เทคนิคและกิจกรรมฝึกเด็กให้เป็น ผู้ฟังที่ดี 

เทคนิคและกิจกรรมฝึกเด็กให้เป็น ผู้ฟังที่ดี 

 

การฟังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการเรียนรู้... 

การมีความสามารถทางการฟังที่ดีของนักเรียนนั้น ส่งผลสำคัญต่อการสร้างทักษะการสื่อสารที่จำเป็นทั้งในและนอกห้องเรียน

 

เพิ่มเพื่อน

 

การมีทักษะการฟังอย่างตั้งใจนี้ เกี่ยวข้องกับการใช้ทักษะ Soft Skills ด้วย ซึ่งเป็นทักษะที่ใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับคน เป็นกลุ่มทักษะที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสังคม และอารมณ์เป็นหลัก เช่นเดียวกันกับทักษะการแก้ปัญหา ความเป็นผู้นำ และการทำงานเป็นทีม ซึ่งเกิดได้ก็ต่อเมื่อเราผ่านการฝึกฝนและลงมือทำ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมาก

 

แล้วการฟังอย่างตั้งใจคืออะไร 

การฟังอย่างตั้งใจ หมายถึง การให้ความสนใจอย่างเต็มที่กับผู้พูด และพยายามทำความเข้าใจกับข้อความที่ถูกส่งออกมาทั้งหมด การเป็นผู้ฟังที่ดีจะสามารถแสดงออกทางด้านภาษาพูดและภาษากายได้เป็นอย่างดี 

 

ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเชิงบวก การจดจำ และการตั้งคำถาม ล้วนแล้วแต่แสดงออกให้เห็นถึงการสื่อสารทางการพูดที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากการฟังอย่างตั้งใจนั่นเอง 

 

ส่วนการแสดงออกทางด้านภาษากายที่ดีขณะฟังนั้น เช่น การยิ้ม การพยักหน้า การแสดงออกด้วยท่าทาง และการไม่แสดงอาการวอกแวก

 

นอกจากนั้นแล้ว การเป็นผู้ฟังที่ดี ยังสามารถแสดงปฎิสัมพันธ์ การสนทนา ในเชิงบวกได้ด้วย เช่น สามารถตอบกลับคู่สนทนาในการแสดงความคิดเห็น ให้สอดคล้องกับแนวบทสนทนา โดยสื่อสารกลับผ่านการใช้คำพูดของตนเองได้ 



 

แล้วการฟังอย่างตั้งใจสำคัญอย่างไร 

การมีทักษะการฟังอย่างตั้งใจนั้นส่งผลดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความเข้าใจบทเรียนในห้องเรียน การเป็นผู้ฟังที่ดี ยังช่วยให้มีแนวโน้มที่จะเป็นนักสื่อสารที่ดีขึ้น และสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ อีกด้วย

 

การเป็นผู้ฟังที่ดียังส่งผลดีต่อบุคลิกภาพ ความมุ่งมั่น อีกทั้งยังเป็นองค์ประกอบ ที่สำคัญของการแสดงความเป็นผู้นำด้วย 

 

 ข้อดีของการฟังอย่างตั้งใจ 

  • ลดปัญหาความเข้าใจผิดในการสื่อสาร
  • เพิ่มอัตราความเร็วในการทำงาน
  • พัฒนาความคิดและปัญญาที่ดีขึ้น
  • สามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น
  • ประสิทธิภาพการทำงานและเรียนดีขึ้น

 

เปรียบเทียบระหว่าง การฟังอย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจ 

แล้วจะเกิดอะไรขึ้น หากเราเป็นผู้ฟังที่ไม่ตั้งใจ การฟังแบบไม่ตั้งใจเป็นเพียงการได้ยินสิ่งที่ผู้พูดพูดเท่านั้น โดยไม่พยายามที่จะเข้าใจจริง ๆ และเมื่อนักเรียนกลายเป็นผู้ฟังที่ไม่ตั้งใจ พวกเขาจะไม่สามารถเก็บข้อมูลได้เลย เพราะพวกเขาจะเสียสมาธิได้ง่ายขณะฟัง

 

ซึ่งการเป็นผู้ฟังที่ดีนั้น ผู้ฟังจะเข้าใจจุดที่ผู้พูดพยายามสื่อสาร ไม่ใช่แค่ได้ยินคำที่เขาหรือเธอพูดเท่านั้น

 

เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ฟังที่ดี เป็นทักษะที่สำคัญที่นักเรียนต้องพัฒนาและฝึกฝนอย่างแข็งขัน!!!

 

 

แล้วคุณผู้ปกครอง สามารถช่วยเหลือนักเรียนให้เป็นผู้ฟังที่ดีได้อย่างไร?

 

 

มาดู 5 วิธีในการฝึกการเป็นผู้ฟังที่ดีกันค่ะ!!!

 

ผู้ปกครองหรือคุณครูสามารถช่วยเหลือนักเรียนให้เป็นผู้ฟังที่ดีได้ โดยอันดับแรก ต้องเริ่มฝึกจากตัวเรา ให้รู้จักเป็นผู้ฟังที่ดีก่อน ซึ่งการสร้างต้นแบบที่ดีให้เด็ก ๆ ทำตามนั้น เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้พวกเขาเห็นว่า สิ่งนี้สำคัญและมีคุณค่าควรปฎิบัติตาม และสามารถพัฒนาตนเองจนกลายไปเป็นนิสัยและความเคยชินในการเป็นผู้ฟังที่ดีได้  

 

ผู้ปกครองและนักเรียน สามารถพัฒนาทักษะ 5 วิธีในการฝึกการเป็นผู้ฟังที่ดีได้...

 

 1. สบตาคู่สนทนาอย่างต่อเนื่อง 

การสบตาคู่สนทนาอย่างต่อเนื่องระหว่างการสื่อสาร แสดงออกถึง ความน่าเชื่อถือ ความอบอุ่น การเข้าสังคม ความจริงใจ ความมั่นใจ และความสนใจต่อผู้พูด การสบตายังช่วยให้ผู้ฟังสามารถโฟกัสและพัฒนาสมาธิไม่วอกแวก และเข้าใจสิ่งที่ผู้พูดพยายามสื่อสารอีกด้วย

 

 2. ไม่ขัดจังหวะผู้สนทนา 

         ควรให้ผู้พูด พูดให้จบเสียก่อนโดยไม่ขัดจังหวะ ไม่รีบช่วยพูดเพื่อให้จบประโยค หรือรีบแสดงความคิดเห็น หรือตอบกลับเร็วจนเกินไป พยายามหลีกเลี่ยงการเดาหรือคาดการคำพูดของคู่สนทนาเพื่อพูดแทรกให้รีบจบประโยค ซึ่งจะทำให้การสื่อสารคลาดเคลื่อนและนำไปสู่การฟังที่ไม่มีประสิทธิภาพได้ 

 

 3. ตั้งคำถาม 

การตั้งคำถาม เป็นการแสดงออกอีกหนึ่งวิธีที่แสดงถึงการฟังอย่างตั้งใจ เป็นการตรวจสอบ ให้แน่ใจด้วยว่าคุณได้ยินถูกต้อง โดยการตั้งคำถามเฉพาะเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้พูดกำลังพูด สิ่งนี้จะช่วยให้เกิดความชัดเจน มั่นใจในความเข้าใจ และแสดงให้เห็นว่าคุณกำลังฟังอยู่

 

คำถาม 4 ประเภทที่ควรลองใช้ 

 

คำถามประเภทปลายเปิด เพื่อเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นมากขึ้น

เช่น วันนี้ อยู่ที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง 

 

คำถามประเภทปลายปิด ถามเพื่อต้องการคำตอบที่ชัดเจน 

เช่น วันนี้หนูทำการบ้านเสร็จหรือยัง 

 

คำถามประเภทเชิงนำทาง ถามเพื่อต้องการตอบสนองแบบเฉพาะสิ่ง 

เช่น วันนี้มีการบ้านให้ทำเยอะมากไหม

 

คำถามประเภทไตร่ตรอง ถามเพื่อให้ไตร่ตรองและขยายความคิดเห็น 

เช่น หนูบอกว่า หนูชอบเรียนวิชาศิลปะที่โรงเรียนมากที่สุด ช่วยบอกหน่อยสิ ว่าทำไมถึงชอบ

 

 4. ตั้งคำถามกลับ 

การตั้งคำถามกลับไปยังผู้พูด โดยการใช้คำพูดตามที่ตนเองเข้าใจ ควรถามโดยการสรุปประเด็นหรือสาระสำคัญของบทสนทนา วิธีนี้จะยิ่งช่วยเปิดโอกาสให้ผู้พูดสามารถช่วยแก้ไขหรือยืนยันตอบรับในสิ่งที่เราเข้าใจว่าถูกต้องหรือไม่

 

 5. ฟังและจับใจความทั้งหมด 

การสื่อสารข้อความใด ๆ มักมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 2 อย่างคือ 1. เนื้อหาของข้อความ หรือความหมาย และ 2. ความรู้สึกหรือทัศนคติพื้นฐานในการสื่อความหมาย ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการช่วยสื่อความหมายของการสื่อสาร การเป็นผู้ฟังที่ดีและตั้งใจนั้น จะต้องฟังทั้งสองสิ่งคือเนื้อความ รวมถึงฟังถึงความรู้สึกของผู้พูดด้วย ซึ่งในบางครั้งการรับรู้ข้อความที่แท้จริง อาจมาจากการพยายามสื่อผ่านทางอารมณ์มากกว่าข้อความที่พูดออกมา 

 

หากคุณผู้ปกครองและเด็ก ๆ ลองฝึกวิธีข้างต้น ก็จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายได้ฝึกทักษะการเป็นผู้ฟังที่ดีขึ้นได้

 

 

กิจกรรมที่จะช่วยสำหรับการฝึกทักษะการเป็นผู้ฟังที่ดี 

การแสดงออกของผู้ปกครองที่ต้องสร้างต้นแบบที่ดีให้เด็ก ๆ เห็นก่อนนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำอันดับแรก นอกจากนั้น การฝึกฝนบ่อย ๆ ก็สำคัญเช่นกัน 

 

มาดูกิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะการฟังของเด็ก ๆ ให้แข็งแรงกัน!!!

 

 อ่านนิทานหรือหนังสือให้เด็กฟัง  ลองถามเด็ก ๆ ดูว่า จะเกิดอะไรต่อจากนี้ การฝึกให้เด็ก ๆ ได้ลองคิดคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น จะเป็นการฝึกให้เด็ก ๆ รู้จักฝึกการเก็บรายละเอียดการฟังได้อย่างครอบคลุม 

 

 ทำอาหารกับเด็ก ๆ  ผู้ปกครองสามารถอ่านสูตรการทำเมนูอาหาร ขั้นตอนการเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เด็ก ๆ ฟัง และเปิดโอกาสให้พวกเขาฟังและปฎิบัติตามสูตรได้ตามทีละขั้นตอนอย่างถูกต้อง

 

 สนทนาในเรื่องที่เด็ก ๆ สนใจ  การที่ผู้ปกครองได้ลองหาเรื่องพูดคุยในสิ่งที่เด็ก ๆ รู้สึกสนใจ จะเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้รู้สึกว่า มีส่วนร่วมในบทสนทนาจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งการฟังและการพูด 

 

 เล่นเกมโทรศัพท์หากัน  เกมนี้สามารถเล่นเป็นกลุ่มได้ โดยให้หนึ่งคนพูดกระซิบหนึ่งประโยคให้กับอีกคนฟัง จากนั้นแต่ละคนจะต้องจำให้ได้ และส่งต่อประโยคที่ได้ยินไปยังคนต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงคนสุดท้าย และให้คนสุดท้ายพูดประโยคให้ทุกคนได้ยิน และลองเปรียบเทียบดูว่า ประโยคที่ได้ยินนั้นแตกต่างจากประโยคครั้งแรกอย่างไร 

 

 สร้างรายการคำถาม  ลองตั้งคำถามกับเด็กแต่ละคน จากนั้นให้เด็กตอบ และคนอื่น ๆ จะต้องตั้งใจฟังคำตอบด้วย และลองถามกลับอีกว่า พวกเขาสามารถจดจำคำตอบเหล่านั้นได้หรือไม่ คำตอบคืออะไร และลองสลับบทบาทผู้ถามและผู้ตอบสลับกันบ้าง เพื่อเป็นการฝึกทักษะการเป็นผู้ฟังและผู้พูดที่ดี

 

 เล่นเกมจับผิด  ผู้ปกครองลองหานิทานหรือเรื่องเล่าให้เด็ก ๆ ฟัง เล่าให้ฟังครั้งแรก จากนั้นเล่าเรื่องเดิมให้ฟังซ้ำอีกครั้ง แต่ครั้งที่สอง ลองเปลี่ยนแปลงบางอย่างในเนื้อเรื่องให้แตกต่าง ทุกครั้งที่เด็ก ๆ ได้ยิน ความแตกต่างจากเดิม ลองให้เด็ก ๆ ยกมือขึ้นหรือปรบมือขึ้นทุกครั้งทันทีที่ได้ยิน

 

 สร้างศิลปะจากการฟัง  ลองหากระดาษหรือรูปภาพเปล่าให้เด็ก ๆ  จากนั้นฝึกให้เด็กเล่นเกมวาดตามคำสั่ง ให้เด็ก ๆ ฝึกฟังและถ่ายทอดคำสั่งที่ได้ยินผ่านการวาดรูปหรือขีดเขียนตามคำสั่งหรือลากเส้นไปตามทิศทางที่ได้ยิน  

 

การฝึกทักษะการเป็นผู้ฟังที่ดีนั้น ต้องใช้สมาธิและความตั้งใจเป็นอย่างมาก เราหวังว่า การฝึกฝนเทคนิคการฟังดังกล่าว จะช่วยให้นักเรียน สามารถสร้างทักษะการฟังให้แข็งแรงและกลายเป็นผู้สื่อสารที่ดีขึ้น และสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันกันได้นะคะ 

 

 

โปรแกรม Fast ForWord หรือโปรแกรมที่ช่วยพัฒนาทักษะการฟังและการอ่าน เป็นโปรแกรมที่ช่วยพัฒนา สมาธิ ความจำ การเรียนลำดับก่อนหลัง การอ่าน และการฟังของเด็ก ๆ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมคลิก!

 

 

"โปรแกรมฝึกภาษาอังกฤษ"

 

 

-----------------------------------------

BrainFit รับสมัครน้องๆ อายุตั้งแต่ 3-18  ปี

รับคำปรึกษาจากเรา ได้แล้ววันนี้ ฟรี!!

ที่ 02-656-9938 / 02-656-9915 / 091-774-3769

LINE@brainfit_th

เพิ่มเพื่อน

 

Contact Us

หากคุณสนใจคอร์สหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อเราได้เลย

BrainFit Studio Thailand ชั้น 2, อาคารเพลินจิตเซ็นเตอร์,
สุขุมวิทซอย 2, กทม. 10110BTS สถานีเพลินจิต ทางออก 4