ทักษะการอ่าน พัฒนาได้ ผ่านการเล่านิทาน!
ทักษะการอ่าน เป็นทักษะที่จำเป็นมากสำหรับเด็ก ๆ เพราะเทคโนโลยีที่เข้ามาหลากหลาย การรับข้อมูลข่าวสารจึงต้องใช้ ทักษะการอ่าน เพื่อประมวลผลและวิเคราะห์
ข้อมูลมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ปกครองหลายคนอาจจะเป็นกังวลในเรื่องดังกล่าว
เรามาลองวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวผ่านกรอบทฤษฎี Scarborough’s Reading Rope กันค่ะ
ทฤษฎี Scarborough’s Reading Rope
เป็นกรอบแนวคิด (framework) ที่คิดค้นโดย ดร. Hollis Scarborough ซึ่งอธิบายทักษะการอ่านว่าเป็นเสมือนการทอเชือก 2 เส้นเข้าด้วยกัน โดยเชือกทั้ง 2 เส้นมีเส้นใยที่ประกอบกัน
เชือกเส้นแรก คือ การเข้าใจภาษา (Language Comprehension) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 เส้นใย
- Knowledge Background หรือ ความรู้พื้นฐานในเรื่องที่อ่าน อย่างเช่น อ่านเรื่องวันคริสมาสต์ ผู้ปกครองอาจจะต้องเล่าให้ฟังเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ก่อนแล้วจึงต่อยอดในการอ่านนิทาน
- Vocabulary หรือ คลังคำศัพท์ ทักษะแรกที่ง่ายที่สุดในการเรียนรู้เรื่องคำศัพท์ คือการฟัง เช่น การฟังนิทาน การฟังเรื่องเล่าต่าง ๆ การดูหนัง การพูดคุยกับผู้อื่น เป็นต้น
- Language Structure หรือ การเข้าใจโครงสร้างประโยค ความเข้าใจในเรื่องการเรียบเรียงคำ เรียบเรียงประโยค จะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นหากน้องมีคลังคำศัพท์ที่มากเพียงพอ สิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะดังกล่าว คือ การอ่านนิทาน ไม่ใช่เพียงแค่อ่านนิทานหรือฟังนิทานเพียงอย่างเดียว เด็ก ๆ จะมีการใช้นิ้วจิ้มเรียงคำศัพท์ และเรียงเหตุการณ์ไปเรื่อย ๆ พร้อมกับการทบทวนคำศัพท์จากซ้ายไปขวา เป็นการช่วยเสริมทักษะการกวาดสายตาจากซ้ายไปขวาและทักษะการอ่านของน้อง ๆ ด้วยค่ะ
- Verbal Reasoning หรือ การเข้าใจความหมายของคำนั้น ๆ คือ ความสามารถในการเข้าใจความหมายและคาดเดาความหมายของคำนั้น ๆ ได้
- Literary Knowledge คือ ความเข้าใจสัญลักษณ์ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เช่น ทักษะการอ่านป้าย เป็นต้น
เชือกเส้นที่สอง คือ การรู้คำ (Word Recognition) ซึ่งประกอบด้วย 3 เส้นใย
- Phonological Awareness การผสมเสียง
- Decoding การถอดความหมายจากตัวอักษร
- Sight Recognition การเข้าใจคำโดยไม่ต้องใช้การสะกด
เชือกทั้งสองเส้นจะค่อย ๆ ผูกกันแน่นขึ้นผ่านการฝึกฝน เชือกเส้นแรกหรือการเข้าใจภาษาจะทำผ่านการฝึกฝน ยิ่งฝึกฝนเยอะจะส่งผลให้เด็กอ่านวิเคราะห์ข้อมูลได้มากขึ้น (Increasingly Strategic) ส่วนในเชือกเส้นที่สองหรือการรู้คำ หากยิ่งฝึกฝนจะทำให้เด็ก ๆ อ่านได้คล่องมากยิ่งขึ้น
การสร้างสมดุลระหว่างเชือกทั้งสองเส้นในช่วงแรกของการฝึกอ่านจำเป็นมากเพื่อให้เด็กมีพื้นฐานที่แข็งแรง มีเจตคติที่ดีต่อการอ่าน และสร้างความสนุกสนานในการอ่านได้อีกด้วย
เทคนิคเสริมสร้าง ทักษะการอ่าน ผ่านการเล่านิทาน
การเล่านิทานเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับเด็ก ๆ ไม่เพียงแค่ช่วยเสริมพัฒนาการ ยังคงช่วยเสริมในเรื่องคลังคำศัพท์พร้อมทั้งประสบการณ์ให้กับเด็ก ๆ และช่วยเสริมทักษะทางด้านการอ่านให้กับเด็ก ๆ ได้ด้วยเช่นกันค่ะ แล้วนิทานสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัยต้องเป็นแบบไหนกันนะ
นิทานที่เหมาะกับช่วงวัยของเด็กแบ่งออกเป็น 4 ช่วง
1. เด็กเล็กอายุ 0-3 ปี
ส่วนใหญ่หนังสือนิทานควรเป็นภาพ มีคำบรรยายเพียงสั้นๆ ไม่ต้องมีเนื้อเรื่องมาก หรือเป็นคำกลอน เพื่อให้เด็กเล็กได้เห็นรูปและฟังเสียง เด็ก ๆ จะชอบมาก เพราะมีสัมผัสและเสียงอ่านที่ฟังแล้วเป็นจังหวะคล้ายเสียงดนตรี
2. เด็กอนุบาลอายุ 3-6 ปี
เน้นภาพเยอะกว่าตัวอักษร ซึ่งอาจเป็นคำกลอนคล้องจองที่เด็กสามารถจำง่าย หรือเนื้อเรื่องที่ไม่ซับซ้อน
3. เด็กประถมอายุ 6-9 ปี
ใช้ตัวอักษรให้มากขึ้น เนื้อเรื่องซับซ้อนมากขึ้น เล่าเรื่องที่เหมือนได้ประสบการณ์การผจญภัย หรือหาของที่ซ่อนอยู่ในภาพจะช่วยดึงดูดความสนใจให้เด็ก ๆ ติดตามนิทานด้วยความสนุก
4. เด็กประถมปลายอายุ 9-12 ปี
เน้นภาพสวย จำนวนตัวละครมากขึ้น เนื้อหาช่วยให้ติดตามเพื่อแก้ปัญหา หรือใช้คำศัพท์ที่ยากขึ้น จะฝึกทักษะการฟังและจับใจความที่เป็นประโยชน์ในการเรียนหนังสือของเด็กๆ
อ้างอิงจาก https://www.bpksamutprakan.com/care_blog/view/173
นิทานมีหลากหลายรูปแบบซึ่งนิทานเรื่องแรกมักเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเด็ก ๆ มากค่ะ เพื่อช่วยในเรื่องทักษะการฟัง ทักษะการอ่าน ความคิดสร้างสรรค์ การใช้จินตนาการ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ยังช่วยสร้างเกลียวเชือกทั้งสองเชือกให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น
ทักษะการอ่าน เป็นทักษะที่สามารถพัฒนาได้ หากพัฒนาอย่างถูกวิธี และต้องใช้ระยะเวลาที่สม่ำเสมอในการพัฒนา เหมือนกับการถักทอเส้นเชือก หากเส้นเชือกเส้นใดเส้นหนึ่งยังคงแข็งแรงไม่มากพอ ส่งผลให้การถักทอต้องใช้พลังและแรงเยอะ อาจจะส่งผลให้ท้อใจ ไม่ชอบ ไม่อยากทำ ดังเช่นเด็ก ๆ ที่ไม่ค่อยชอบอ่าน หรือเด็ก ๆ ไม่ค่อยชอบตอบคำถามเรื่องนิทานต่าง ๆ เพราะบางครั้งการอ่านต้องใช้พลังสมองทั้ง 5 ด้านไปพร้อม ๆ กัน คือ การกวาดสายตามองตามตัวอักษร ท่านั่งที่เหมาะสมกับการอ่าน คลังคำศัพท์ของน้องในขณะนั้น การวิเคราะห์และประมวลผลสิ่งที่อ่าน การตอบคำถามจากเรื่องที่อ่านและความมั่นใจในการอ่าน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลในเรื่องทักษะการอ่านทั้งสิ้น
ดังนั้นทักษะพื้นฐานจึงสำคัญต่อ ทักษะการอ่าน รวมไปถึงการเล่านิทาน การแสดงบทบาทสมมติ และการใช้เวลาคุณภาพกับลูกรัก ส่งผลโดยตรงในเรื่องพัฒนาการทางการอ่านสำหรับเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ และ อาทิตย์
02-656-9938 / 02-656-9939 / 02-656-9915
วันพฤหัสบดี-วันศุกร์ 091-774-3769