Time out เด็กอย่างไร ไม่ให้เกิดผลเสีย
Time out เด็กอย่างไร ไม่ให้เกิดผลเสีย หลายท่านอาจจะเคยได้ยินการจัดการกับอารมณ์หรือพฤติกรรมของเด็กด้วยวิธี time out มาบ้าง แล้วการฝึกพฤติกรรมเด็กแบบ time out คืออะไร
Time out หรือ การเข้ามุม คือเทคนิคการแยกเด็กออกมาจากสถานการณ์ที่ทำให้เด็กเกิดปัญหาพฤติกรรม ซึ่งเป็นการช่วยให้เด็กใช้เวลานอกในการสงบ ระงับอารมณ์หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตัวเอง
Time out เป็นเทคนิคที่ใช้สำหรับในการจัดการพฤติกรรมปัญหาของเด็กมานานหลายทศวรรษแล้ว และเป็นส่วนสำคัญของโครงการฝึกอบรมผู้ปกครองจำนวนมาก ซึ่งกุมารแพทย์ส่วนใหญ่ก็ได้แนะนำให้ใช้เทคนิคนี้ เพื่อลดพฤติกรรมเชิงลบของเด็ก ไม่ว่าจะเป็น การพูดคุยไปจนถึงการแสดงออกที่ก้าวร้าวทางร่างกาย ซึ่งนักวิจัยระบุว่าหากใช้เทคนิคนี้อย่างถูกวิธี ก็จะทำให้เกิดประโยชน์และไม่ส่งผลเสียต่อเด็ก
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีนักวิจารณ์ได้ออกมาโต้แย้งว่า การใช้เทคนิค time out จะเป็นการสร้างประสบการณ์ที่จะทำให้เด็ก ๆ รู้สึกถูกทอดทิ้งในช่วงวิกฤตทางอารมณ์ ยิ่งเป็นการนำไปสู่การต่อสู้ทางอารมณ์หรือพฤติกรรมมากขึ้น แทนที่จะสอนให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง จากข้อโต้แย้งนี้เอง จึงได้มีการนำเอาเทคนิค time in เข้ามาใช้ โดยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยเด็กในการสงบสติอารมณ์ โดยการแสดงความเห็นอกเห็นใจ คอยปลอบ หรือนั่งข้าง ๆ เวลาที่เด็กโกรธหรือโมโห
การใช้วิธีแบบ Time out หรือ Time in นั้น เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรเลือกใช้ปฏิบัติเพื่อให้เข้ากับเด็กและสถานการณ์นั้น ๆ ซึ่งเราอาจจะไม่สามารถใช้อย่างใดอย่างหนึ่งได้ตลอดทุกครั้ง
ข้อถกเถียงสำหรับการใช้ Time out
การใช้วิธี Time out กับเด็ก เคยเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในการจัดการกับพฤติกรรมปัญหาของเด็ก เริ่มมีใช้ตั้งแต่ปี 1950 ซึ่งได้รับความนิยมมากในยุคนั้น ซึ่งเชื่อว่าปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เพราะเด็ก ๆ ต้องการเรียกร้องความสนใจ เพราะฉะนั้นการใช้วิธี Time out จึงเป็นการแยกเด็กเพื่อไม่ให้ได้รับความสนใจจากการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ได้รับความสนใจ
แต่ในปี 2014 นิตยสาร Time ระบุว่า การใช้วิธี Time out เป็นวิธีที่ทำร้ายเด็ก ส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาถึงผลของการใช้เทคนิคนี้ โดยผู้เขียน Drs. Daniel J. Seigel และ Tina Payne Bryson ได้เขียนไว้ว่า จากหลาย ๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ประสบการณ์แรกที่เด็กได้สัมผัสกับการถูก Time out คือความรู้สึกที่ถูกทอดทิ้ง ถึงแม้ว่าจะลงโทษด้วยความความใจเย็นหรืออดทนก็ตาม เพราะ Time out จะสอนให้เด็ก ๆ รู้สึกว่า ตอนที่พวกเขาทำความผิด หรือกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ลำบากอยู่นั้น เขากลับถูกลงโทษโดยการให้อยู่คนเดียว ซึ่งบทเรียนเหล่านี้ หากถูกลงโทษกับเด็กวัยเล็ก พวกเขาจะยิ่งรู้สึกว่ากำลังถูกปฎิเสธหรือทอดทิ้ง
ผู้เขียนยังกล่าวอีกว่า การปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพัง จะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกโกรธมากขึ้นมากเดิม ซึ่งบทความนี้ได้อ้างอิงมาจากการศึกษาทางด้านประสาทวิทยา ที่แสดงส่วนพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวด ที่เกิดจากการถูกปฏิเสธนั้น ได้แสดงภาพของสมองที่มีความเจ็บที่คล้ายคลึงกับความเจ็บปวดจากการได้บาดเจ็บทางร่างกาย เช่น เวลาที่เดินสะดุดนิ้วเท้า
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ทั้ง Siegel และ Bryson ก็ได้ออกมากล่าวชี้แจ้งถึงความสับสนที่ตนได้เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้ และชี้แจงว่า จริง ๆ แล้วการใช้เทคนิค Time out นั้นเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับ หากใช้ให้เหมาะสมและใช้อย่างถูกวิธี ซึ่งการใช้ Time out ที่เหมาะสมนั้น ก็ควรจะใช้เมื่อถึงสถานการณ์ที่จำเป็น ไม่บ่อยจนเกินไป และควรได้รับการใส่ใจโดยการให้ feedback ในเชิงบวกหลังจากนั้นเพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของผลของการกระทำที่เกิดขึ้น เพื่อให้เด็กเข้าใจถึงสาเหตุของการถูก Time out
ขั้นตอนในการ Time out
สังเกตพฤติกรรมของเด็กและเริ่มเตือน
เมื่อเด็ก ๆ เริ่มทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่ฟังคำสั่ง ผู้ปกครองควรเริ่มเตือนหรือแจ้งให้เด็ก ๆ รู้ก่อนว่า หากไม่ทำตามจะต้องถูก time out เช่น หากบอกให้เด็กหยุดขว้างปาของเล่นใส่กัน ก็ต้องบอกว่าให้เด็กหยุดขว้างปาก่อน ถ้าหากไม่หยุดจะต้องถูก time out หลังจากที่ได้เตือนไปแล้ว ให้รอประมาณ 5 วินาที หากเด็ก ๆ หยุดทำ ก็ควรชื่นชมทันทีที่ฟังคำสั่งและหยุดขว้างปาของเล่นได้ แต่หากเด็ก ๆ ยังไม่หยุดพฤติกรรมในการขว้างปาสิ่งของหลังจากได้รับการเตือน ก็ควรได้รับการ Time out ทันที
บอกเหตุผลว่าทำไม
ผู้ปกครองต้องบอกถึงสาเหตุว่าทำไมเด็ก ๆ จะต้องถูก time out ก่อน เช่น บอกกับลูกว่า หนูต้องถูก time out แล้ว เพราะว่าหนูไม่หยุดขว้างปาสิ่งของ และคุณต้องพูดแค่ครั้งเดียว ด้วยน้ำเสียงที่กระชับ โดยบอกสาเหตุที่ลูกถูก time out และคุณจะต้องห้ามทำสิ่งเหล่านี้
- สั่งสอน ดุ หรือเถียงกับลูก
- ห้ามรับคำแก้ตัวของลูก
- ห้ามคุยกับลูกในขณะที่ลูกอยู่ในมุม time out
- หลีกเลี่ยงการตะโกน การประท้วง และสัญญาว่าจะทำดี
ให้เด็กนั่งอยู่ในมุม Time out
หากลูก ๆ ปฏิเสธที่จะถูก time out ผู้ปกครองสามารถพาลูกไปที่มุม โดยการนำทางให้ไปยังมุมที่นั่งสำหรับ time out หรือค่อย ๆ อุ้มลูกไปเพื่อให้เขานั่งในพื้นที่สำหรับการ time out และบอกให้ลูกนั่งอยู่ตรงบริเวณนั้น และจะลุกขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อผู้ปกครองอนุญาต ในระหว่างที่เด็กกำลังถูก time out นั้น จะต้อง
- ไม่อนุญาตให้ผู้อื่นคุยกับเด็ก
- ไม่อนุญาตให้เด็กเล่นของเล่นใด ๆ ในเวลานั้น
สิ้นสุดการทำ Time out
สำหรับการทำ time out สำหรับเด็กเล็กวัยหัดเดินหรือก่อนเข้าเรียน ควรใช้ระยะเวลาประมาณ 2-5 นาที กฎในการให้ time out ควรใช้เวลาให้เหมาะกับช่วงอายุปีของเด็ก เช่น เด็กอายุ 1 ปี ควรใช้เวลา 1 นาที เด็กอายุ 2 ปี ควรใช้เวลา 2 นาที หรือเด็กอายุ 3 ปี ควรใช้เวลา 3 นาที เป็นต้น
ก่อนจะหยุดการถูก time out นั้น ผู้ปกครองควรจะดูว่า เด็ก ๆ เงียบหรือยัง ลองสังเกตอาการอย่างน้อย 5 วินาทีก่อนที่เวลาของ time out ใกล้จะหมด ผู้ปกครองจึงค่อยบอกให้เด็กลุกขึ้นได้ และหากลูก ๆ ถูก time out เพราะสาเหตุจากการแสดงออกทางพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนเองหรือคนรอบข้าง ก็ควรบอกให้ลูกรู้ก่อนหยุด time out เช่น อย่าลืมกฎของที่บ้านนะ ว่าห้ามทำร้ายร่างกายคนอื่น หรือทำให้คนอื่นเจ็บ
ชื่นชมในสิ่งที่ดี
พยายามชื่นชมในสิ่งดี ๆ ที่ลูกจะได้ทำต่อไป ลองหาโอกาสให้ลูก ๆ ปฎิบัติตามคำสั่งอย่างอื่น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ฝึกฝนการทำฟังและทำตามคำสั่ง และชื่นชมในสิ่งที่ลูกพยายามทำ ซึ่งในบางครั้ง หากการ time out อาจจะไม่ได้ผลหรือเด็กยังไม่ทำตามคำสั่ง ผู้ปกครองอาจจะต้องให้เด็ก time out ในครั้งต่อไป เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ถึงกฎกติกาที่ผู้ปกครองจะทำจริง ๆ หากพวกเขาไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
สิ่งสุดท้าย คือ เด็ก ๆ ทุกคนมีความแตกต่างกัน คุณพ่อคุณแม่จึงควรเลือกปรับใช้ให้เหมาะกับลักษณะนิสัยของลูก เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกเครียดหรือกดดันมากเกินไป แล้วอย่าลืมหมั่นเติมความรักและความเข้าใจให้เขาอย่างสม่ำเสมอด้วย เพื่อให้เด็ก ๆ รู้สึกถึงความปลอดภัยและห่วงใยจากพ่อแม่นะคะ
พัฒนาทักษะพื้นฐานสมองแบบครอบคลุม เสริมสร้างความแข็งแรงทางร่างกาย สมาธิ ภาษา และอารมณ์ กับเราที่ BrainFit เหมาะสำหรับเด็กวัย 3-18 ปี
สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
BrainFit Thailand
02-656-9938 / 02-656-9939 / 02-656-9915
Site: cdc.gov