5 วิธี รับมือและแก้ไขเมื่อ ลูกโกหก
เพราะอะไรกันนะ? ในบางครั้งลูกถึงพูดโกหก สาเหตุมาจากอะไร
ทำอย่างไรลูกถึงจะพูดความจริงกับพ่อแม่
บทความนี้มีคำตอบ ไปดูกันเลย!
คุณพ่อคุณแม่เคยเจอกับพฤติกรรมแบบนี้บ้างหรือไม่ ไม่ว่าจะทำอย่างไรลูกก็ยังมีพฤติกรรมเช่นนี้อยู่ เรามาดูกันก่อนเลยว่าการโกหกของเด็ก ๆ นั้นมีสาเหตุมาจากอะไร แล้วคุณพ่อคุณแม่อย่างเราจะรับมือและแก้ไขอย่างไร เพื่อให้ลูกพูดความจริงกับเรามากขึ้น
ลูกโกหก เพราะเป็นพฤติกรรมของการเอาตัวรอด ซึ่งเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด เด็กไม่ได้อยากโกหก แต่จำเป็นต้องโกหกเพื่อเอาตัวรอด สาเหตุเกิดจากความอยากได้ อยากมี อยากทำ แต่เด็กรู้ว่าถ้าบอกความจริงไปอาจจะไม่ได้ทำ หรือถ้าทำแล้วคุณพ่อคุณแม่รู้จะต้องโดนลงโทษแน่ ๆ จึงต้องโกหกเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้นนั่นเอง
มาดูกันเลยว่า 5 วิธี รับมือและแก้ไขเมื่อ ลูกโกหก มีอะไรบ้าง!
1. เข้าใจธรรมชาติและพัฒนาการของลูก
ในเด็กเล็ก จะมีจินตนาการสูง มักจะชอบเล่าเรื่องจริงผสมไปกับจินตนาการของตน ทำให้เรื่องที่เล่ามาดูเกินจริง ซึ่งการพูดเช่นนี้เป็นธรรมชาติตามกระบวนการเจริญเติบโตทางด้านจิตใจของเด็กวัยนี้
วิธีการรับมือคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น ไม่ตำหนิลูก แต่ให้อธิบายและบอกให้ลูกเข้าใจว่าเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องจริง
ยกตัวอย่างเช่น ลูกเล่าเรื่องว่า "วันนี้หนูไปเห็นไดโนเสาร์ที่โรงเรียนมา" ซึ่งในความจริงนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่ลูกจะสามารถเห็นไดโนเสาร์ในปัจจุบันได้ คุณพ่อคุณแม่อาจบอกว่า "อ๋อ ที่ลูกบอกว่าเห็นไดโนเสาร์ เพราะลูกอยากให้แม่พาไปดูไดโนเสาร์ใช่ไหมคะ" แล้วอาจจะเล่าเรื่องไดโนเสาร์ให้ลูกฟังว่าเป็นอย่างไร เกิดมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วทำไมจึงถึงสูญพันธุ์ ตอนนี้ไม่มีไดโนเสาร์แล้ว ถ้าเราอยากเห็นเราต้องไปดูที่พิพิธภัณฑ์นะ
ถึงแม้ในวัยนี้ลูกอาจจะไม่สามารถทำความเข้าใจได้ทั้งหมด แต่ลูกก็จะค่อย ๆ เรียนรู้และทำความเข้าใจได้ตามช่วงวัยและพัฒนาการของเขาเองค่ะ
แล้วถ้าลูกโตแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ยังสังเกตเห็นว่าลูกยังพูดโกหกอยู่
เราจะจัดการอย่างไรดีล่ะ?
2. มองว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา
หากลูกเกิดทำผิดพลาด คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น ๆ และมองว่าความผิดพลาดนั้นเป็นเรื่องธรรมดาและสามารถแก้ไขได้ อย่าเพิ่งลงโทษ ตำหนิ จนทำให้เป็นเรื่องใหญ่
เพราะหากลูกทำผิดพลาดแล้วมาเจอคุณพ่อคุณแม่ตำหนิเข้าไปอีก ลูกจะยิ่งรู้สึกแย่และเหตุการณ์เช่นนี้เองจะส่งผลให้ลูกพูดโกหกมากขึ้น เพราะกลัวพ่อแม่จะโกรธ เสียใจ และลงโทษลูก
สิ่งที่เราควรทำคือ เมื่อลูกทำผิดพลาดให้ใจเย็น วางท่านิ่งเฉย แล้วบอกลูกว่าไม่เป็นไร เราแก้ไขได้ ตัวอย่างเช่น ลูกทำแก้วแตก แทนที่จะตำหนิลูก ให้บอกลูกว่า “ไม่เป็นไรลูก เดี๋ยวเราเก็บเศษแก้วกัน เพราะเดี๋ยวคนอื่นมาเหยียบจะบาดเจ็บได้ ต่อไปถือแก้วระวัง ๆ นะลูก” เมื่อลูกเรียนรู้จากเราว่าความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว และสามารถแก้ไขได้ ลูกจะสบายใจที่จะบอกความจริง พูดคุย และขอคำปรึกษากับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้นเองค่ะ
3. หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดเชิงตำหนิ หรือลงโทษด้วยความรุนแรง
ท่าทาง สีหน้า และน้ำเสียงของคุณพ่อคุณแม่หลังจากรับฟังเรื่องที่ลูกเล่านั้นสำคัญมากนะคะ หากเราทราบว่าเรื่องที่ลูกพูดนั้นไม่ใช่เรื่องจริง แล้วเกิดความรู้สึกโกรธหรือโมโห จึงพูดตำหนิลูกไปหรือลงโทษด้วยกำลัง เช่น "ทำไมโกหกแบบนี้" "เลิกโกหกเสียที" "โกหกอีกแล้ว" "บอกความจริงมาเดี๋ยวนี้" ฯลฯ
คำพูดเหล่านี้และความรุนแรงจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกว่ายิ่งต้องปกป้องตัวเอง สร้างระยะห่างระหว่างพ่อแม่มากขึ้น และพยายามเอาตัวรอดจากสถานการณ์เช่นนี้โดยการโกหกอีกในครั้งต่อไป
โดยเฉพาะกับเด็กวัยรุ่น ในช่วงวัยนี้ตามธรรมชาติเด็กวัยรุ่นจะมีระยะห่างกับพ่อแม่เพราะอยากมีพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น มีความคิดเห็นและเป็นตัวของตัวเองสูง หากเรายิ่งใช้คำพูดเชิงตำหนิกับลูกจะยิ่งทำให้ลูกอยากอยู่ห่างจากพ่อแม่มากขึ้น
ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำคือเข้าใจธรรมชาติของลูก สร้างความไว้วางใจ ให้พื้นที่และเวลาส่วนตัวกับลูก พูดคุยกับลูกด้วยความใจเย็น มีเหตุผล และที่สำคัญคือ รับฟังลูกด้วยความตั้งใจ และไม่พยายามเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของลูกมากเกินไป ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการตำหนิหรือการลงโทษ BrainFit แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่งดสิ่งนี้กับลูกไปนะคะ เพราะจะมีแต่ผลเสียกับเสียทั้งนั้นเลย
4. สร้างความเชื่อใจให้กับลูก
เมื่อเรารู้ว่าสิ่งที่ลูกพูดนั้นไม่เป็นความจริง สิ่งที่เราควรทำคือรับฟังก่อน ถามลูกว่าเกิดอะไรขึ้น แสดงให้ลูกเห็นว่าเราอยู่ข้างเขาโดยบอกว่า "พ่อแม่เชื่อลูกนะ ไหนช่วยเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟังได้หรือเปล่า" "ถ้าลูกมีปัญหาอะไรปรึกษาพ่อกับแม่ได้นะ แล้วเรามาช่วยแก้ไขไปด้วยกัน"
การบอกเช่นนี้จะทำให้ลูกรู้สึกเชื่อใจและมั่นใจในพ่อแม่มากขึ้น ทำให้ลูกกล้าเล่าความจริงทั้งหมดออกมาได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิ
ทั้งนี้พ่อและแม่ต้องแสดงให้เห็นว่า พ่อและแม่เคารพและให้ความสำคัญกับความจริง ถึงแม้ว่าความจริงนั้น จะไม่ใช่เรื่องที่ดีหรือเป็นสิ่งที่ผิดพลาด พ่อกับแม่ก็ยินดีรับฟัง เช่น "พ่อแม่จะรู้สึกดีใจมากเลยนะที่เราได้คุยความจริงต่อกัน" "พ่อแม่ว่าการอยู่ด้วยกันโดยการพูดคุยความจริงต่อกันสำคัญมากนะลูก" เมื่อลูกเข้าใจแบบนี้แล้วลูกจะรู้สึกสบายใจ รู้สึกมีพื้นที่ที่ปลอดภัยในการพูดความจริงกับพ่อแม่มากขึ้น
5. เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็น
“อยากให้ลูกเป็นแบบไหน พ่อแม่ต้องเป็นแบบนั้น” หลายครั้งพ่อแม่ก็อาจจะเผลอโกหกโดยไม่รู้ตัว เช่น "ถ้ามีคนมาหา บอกเขานะว่าแม่ไม่อยู่" "ถ้าลุงโทรมา บอกว่าพ่อไม่สบายนะ"
สิ่งเหล่านี้ต้องระวังให้มากนะคะ เพราะลูกเรียนรู้ทุกอย่างจากพ่อแม่เป็นคนแรก ๆ ถ้าลูกเห็นเราทำเช่นนี้ เขาจะเลียนแบบและนำไปทำกับคนอื่นได้ ดังนั้นการเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็นสำคัญมาก ถ้าเราสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีในการพูดความจริงและไม่พูดโกหกให้ลูกเห็นได้ ยิ่งจะช่วยให้ลูกของเราเข้าใจและไม่พูดโกหกกับเราและคนอื่น ๆ ได้นั่นเองค่ะ
เดินทางมาจนครบแล้ว กับทั้ง 5 วิธีที่จะช่วยรับมือและแก้ไขเมื่อ ลูกโกหก จริง ๆ แล้วเทคนิคทั้ง 5 สามารถนำไปใช้ได้กับทุกสถานการณ์ได้อย่างหลากหลาย
สิ่งที่สำคัญคือ การรับฟังลูกด้วยความใจเย็น ไม่โมโหหรือตีโพยตีพายจนเป็นเรื่องใหญ่ หากคุณพ่อคุณแม่สามารถทำสิ่งสำคัญสิ่งนี้ได้ BrainFit เชื่อว่าลูกของเราจะรู้สึกอบอุ่น สบายใจ และเชื่อใจคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก ลูกจะมองว่าเราคือคนสำคัญที่อยู่เคียงข้างลูก คอยช่วยเหลือลูก และลูกเองก็จะกล้าเปิดเผยความจริงให้เรารู้โดยไม่รู้สึกลำบากใจไม่ว่าจะป็นเรื่องใดก็ตาม
รู้อย่างนี้แล้วอย่าลืมลองนำ 5 วิธีนี้ไปลองปรับใช้กันดูนะคะ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน แล้วมาติดตามความรู้ดี ๆ จาก BrainFit กันต่อไปนะคะ
BrainFit เปิดโอกาสให้น้องๆ ทดลองเรียนฟรี
**สำรองที่นั่งล่วงหน้า ที่นั่งมีจำนวนจำกัด**
LINE Official Account: @brainfit_th
จันทร์ อังคาร พุธ และเสาร์อาทิตย์ โทร 02-656-9938
วันพฤหัสบดี-วันศุกร์ 091-774-3769
แหล่งอ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=MV6aXPw6Wmo&t=397s
https://www.youtube.com/watch?v=GmhdDgbCqGs