3 เทคนิค รับมือเมื่อลูก ต่อรอง เก่ง!
ลูกชอบต่อรองมาก ๆ เลยค่ะ ต่อรองได้เก่งมาก เวลาให้ทำอะไร ลูกก็มักจะพูดต่อรอง
ขอเวลาก่อน คุณพ่อคุณแม่ใจอ่อนทุกครั้งเลย แบบนี้ลูกจะฟังคำสั่งเราไหม หรือบางครั้งก็
รู้สึกหงุดหงิดและกังวลมากเลยค่ะ ต้องทำอย่างไรดีคะ
คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองอาจจะได้ยินประโยคต่อรอง เช่น
“หนูขอดูให้จบก่อนนะคะ”
“หนูขอเวลาแป๊ปเดียวนะคะ”
“แม่ ขอเวลาอีก 5 นาทีครับ ขอเกมนี้จบก่อน”
แบบนี้บ่อย ๆ เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น บอกแล้วไม่ยอมทำตามทันทีต้องขอเวลาก่อน จนบางครั้งอาจจะรู้สึกหงุดหงิดและคิดว่าลูกดื้อ
ไม่ยอมทำตามคำสั่งเลย
เรามาลองทำความเข้าใจไปพร้อมกันว่า การต่อรอง จริง ๆ คือทักษะอะไรกันแน่
เพราะอะไรลูกถึงชอบต่อรอง
การ ต่อรอง เป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นในช่วงวัย 3 - 4 ปี ตามพัฒนาการที่เด็ก ๆ สามารถเข้าใจภาษา สื่อสารพูดคุยได้มากขึ้น มีการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Self Centric) และต้องการอิสระในการเล่นมากขึ้น
ดังนั้นเมื่อลูกไม่อยากทำ อยากเล่นต่อ ลูกก็จะเริ่มพูดคุยต่อรองกับพ่อแม่เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งพ่อแม่อาจจะมอง
ว่าทำไมลูกจึงไม่ทำตามที่บอกเลย บอกให้ไปอาบน้ำก็ไม่ไปต้องขอเวลาก่อน ตอนไปโรงเรียนก็กว่าจะได้ไป
พูดคุยต่อรองกันหลายครั้งจนบางครั้งแม่ก็หงุดหงิดและมองว่าลูกดื้อรั้น ไม่ยอมฟังได้เช่นกันค่ะ
การ ต่อรอง เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัยเลยค่ะ ทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น รวมไปถึงวัยผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน
เราจึงขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพการพูดคุยต่อรองให้ชัดขึ้น
ช่วงวัยอนุบาล
ต่อรองในเรื่องการกิน การเข้านอน การอาบน้ำ เช่น
“ขอดูการ์ตูนให้จบก่อนนะคะ”
“น้ำเย็น ไม่ชอบน้ำเย็น ไม่อยากอาบน้ำค่ะ”
ช่วงวัยประถม
ต่อรองในเรื่องการเล่น การไปโรงเรียน เช่น
“แม่คะ หนูไม่อยากไปโรงเรียน หนูขออยู่กับแม่ได้ไหมคะ”
“พ่อครับ โรงเรียนไม่สนุกเลย ขอไม่ไปได้ไหมครับ”
“เกมสนุกกว่าทำการบ้านเยอะเลย ขอเล่นเกมนะครับ”
ช่วงวัยรุ่น
ต่อรองในเรื่องเพื่อน การกลับบ้านเร็ว อยากเล่นกับเพื่อนก่อน เช่น
“พ่ออย่าเพิ่งมารับนะ ขอเล่นกับเพื่อนก่อน”
“เพื่อนที่โรงเรียนมีเกมใหม่กันทุกคนเลย หนูอยากได้เกมใหม่บ้างค่ะ ถ้าไม่ได้หนูจะโกรธแม่”
คุณพ่อคุณแม่คงรู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจ และอาจจะโมโหเมื่อได้ฟังประโยคแบบนี้บ่อย ๆ แล้วเราจะรับมือกับการต่อรองของลูก ๆ
อย่างไรดีให้เห็นผลที่สุดกันนะ
ควรรับมืออย่างไรดีนะ
BrainFit จึงขอเสนอ 3 เทคนิครับมือเมื่อลูก ต่อรอง เก่ง!
1. Kind and Firm เทคนิคไม่ได้ก็คือไม่ได้
- เทคนิคนี้จะใช้ในสถานการณ์ที่ต่อรองไม่ได้เพราะจะเกิดอุบัติเหตุ หรือ อันตรายกับลูก ๆ เช่น การคาดเข็มขัด การจับมือเดินข้ามถนน การไม่เล่นของมีคม เป็นต้น วัยเด็กมักจะเป็นวัยสำรวจ เขายังไม่เข้าใจว่าอันตรายที่เกิดขึ้นคืออะไร และมักจะเกิดบาดแผลอยู่บ่อย ๆ และสิ่งที่เกี่ยวกับกฎกติกาก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถต่อรองได้
ตัวอย่างเช่น พ่อแม่พาลูกวัย 6 ขวบไปเที่ยวสวนสัตว์ ลูกตื่นเต้นมาก วิ่งเล่นและส่งเสียงดังไปทั่ว จนพ่อแม่มองไม่ทันและไม่ทันระวังอันตราย ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้เราควรพูดคุยกับลูกอย่างใจเย็น “หนูวิ่งเล่นและเสียงดังข้างในนี้ไม่ได้นะคะ พี่ ๆ สัตว์เค้าจะตกใจนะคะ ถ้าพี่สัตว์ตกใจ หนูว่าจะเป็นยังไงคะ” ลองรอให้ลูกตอบ ลูกอาจจะตอบว่าสัตว์จะวิ่งหนี หรือลูกอาจจะตอบว่าพี่หมีจะเข้ามาทำร้ายเรา ทักษะการตอบเป็นทักษะการพูดคุยต่อรองเช่นกันค่ะ และพ่อแม่ต้องเน้นย้ำอีกครั้งถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นเพื่อ Firm คำสั่งกับลูกให้ลูกรับรู้ว่าทำพฤติกรรมแบบนั้นไม่ได้จริง ๆ ค่ะ
เทคนิคนี้ช่วยให้ลูกรับรู้และเข้าใจในกฎกติกาของแต่ละสถานที่ ช่วยฝึกวินัยให้กับลูกและลดการพูดคุยต่อรองที่ไม่มีเหตุผลของลูกได้ด้วยเช่นกันค่ะ
2. Give a choice เทคนิคถามความเห็นให้ทางเลือก
- เทคนิคนี้จะใช้ในสถานการณ์ที่สามารถพูดคุยต่อรองได้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของลูก แต่ลูกยังไม่อยากทำในตอนนั้น ซึ่งเทคนิคนี้จะเป็นการพูดคุย ถามความเห็นและเสนอทางเลือกแทนการต่อรองของลูกค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรบอกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปล่วงหน้าก่อน ให้เวลากับลูกเพื่อให้ลูกได้ฝึกการจัดสรรเวลา และให้ทางเลือกกับลูกหากลูกยังเล็กอยู่
เช่น เมื่อลูกดูการ์ตูนอยู่ ถึงเวลาต้องไปอาบน้ำแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรบอกทางเลือกกับลูกและให้เวลากับลูกก่อนนะคะ “หนูจะไปอาบน้ำหลังการ์ตูนเรื่องนี้จบ หรืออีก 5 นาทีคะ” “หนูจะทำการบ้านตอนไหนคะ หลังทานข้าวหรือหลังอาบน้ำคะ” หรือเป็นการถามความคิดเห็นเพื่อให้ลูกจัดการกับตัวเองก็ได้เช่นกัน
โดยเทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่ช่วยฝึกในเรื่องการสื่อสาร พูดคุย ต่อรองอย่างมีเหตุผล และฝึกให้ลูกจัดสรรเวลาของตัวเองได้ดีขึ้นค่ะ
3. Win/Win situation เทคนิคโอเคทั้งสองฝ่าย
- เทคนิคนี้จะใช้กับสถานการณ์ที่ลูกต่อรอง แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าต้องทำอย่างไร หรือแก้ไขปัญหาอย่างไร โดยเทคนิคนี้จะเป็นการทำงานร่วมกันของทั้งสองฝ่ายและช่วยกันคิดหาทางออกของสิ่งที่เกิดขึ้นค่ะ เช่น เมื่อลูกอยากเล่นของเล่นอยู่แต่ถึงเวลาที่ต้องออกไปทำธุระข้างนอกแล้ว ลูกจึงงอแงและต่อรองไม่อยากไป เสนอทางเลือกแล้วแต่ลูกยังไม่ยอมเก็บของเล่น
เทคนิคนี้สามารถช่วยได้ค่ะ โดยการพูดคุย ช่วยกันคิดหาทางออก “ลูกอยากเล่นของเล่น แต่เราต้องออกไปหาคุณยายแล้วนะคะ คุณยายรอทานข้าวกับหนูนะ ลูกว่าเราควรทำยังไงดีคะ” ช่วงแรกลูกอาจจะงอแงเป็นปกติ รอคอยฟังคำตอบอย่างใจเย็น ลูกอาจจะตอบว่า “หนูไปเล่นของเล่นที่บ้านคุณยายได้ไหมคะ” หรืออาจจะ “หนูไปหาคุณยายก่อนก็ได้ ค่อยกลับมาเล่น” ทุกคนได้ไปเจอคุณยาย ลูกได้เล่นของเล่นซึ่งโอเคกันทั้งสองฝ่าย
โดยเทคนิคนี้ช่วยให้เด็กได้จัดการกับความคิดของตัวเองและเพิ่มทักษะพูดคุยสื่อสารแทนการต่อรองเพียงอย่างเดียว
หลักสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ห้ามลืมเมื่อลูกชอบต่อรอง คือ การมีท่าทางที่สงบและไม่คิดว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะเมื่อลูก
ต่อรองกับเรา การควบคุมอารมณ์และจัดการอารมณ์ของตัวเองเมื่อรู้สึกหงุดหงิด
ไม่ควรใช้คำพูดที่ทำร้ายลูก และมีการตั้งกติกาของบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นซ้ำค่ะ
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ยอมรับการต่อรองและรับฟังความคิดเห็นของลูกจะทำให้เห็น
พัฒนาการทางด้านการสื่อสาร ทักษะทางภาษา ความเข้าใจและรับรู้ถึงเหตุและผลของลูกได้มากยิ่งขึ้นค่ะ
รวมไปถึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัวด้วยเช่นกันค่ะ
ทางสถาบัน BrainFit ของเรามีคอร์สฝึกแบบ Whole Brain Training ฝึกทักษะพื้นฐานทั้ง 5 ด้าน
เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นของน้อง ๆ ให้ดีมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมาธิ ลายมือ รวมไปถึงการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง
สนใจติดต่อได้ที่นี่เลย!
จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ และ อาทิตย์
02-656-9938 / 02-656-9939 / 02-656-9915
วันพฤหัสบดี-วันศุกร์ 091-774-3769