แพ้ไม่เป็น อาการนี้แก้ได้ เมื่อลูกมีพลังใจที่แข็งแรง
คุณพ่อคุณแม่กำลังปวดหัวกับปัญหาเหล่านี้อยู่หรือเปล่า ?
- ลูก แพ้ไม่เป็น ชอบเอาชนะ
- ลูกอารมณ์ร้อน หงุดหงิดง่าย
- ลูกไม่มีความอดทน รับมือกับความผิดหวังไม่ได้
- ไม่กล้าลองทำสิ่งใหม่ กลัวความผิดพลาด
หมดห่วงได้เลย เพราะปัญหาเหล่านี้จะลดลงได้หากลูกมี “พลังใจที่แข็งแรง”
ก่อนอื่นอยากให้ผู้ปกครองมาลองสังเกตด้วยกันว่า สาเหตุของพฤติกรรม แพ้ไม่เป็น ของลูกนั้นมาจากอะไร? เพราะสิ่งที่ลูกแสดงออกมานั้นมีที่มาที่ไป ซึ่งอาจเกิดจากสิ่งที่เขาได้ยิน ได้เห็น ได้ประสบพบเจออยู่บ่อย ๆ
"It takes a village to raise a child"
ดังสุภาษิตของชาวแอฟริกัน การจะเลี้ยงเด็กคนนึงให้เติบโตมาได้อย่างมีคุณภาพนั้น ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน พูดง่าย ๆ ก็คือสังคมหรือสภาพแวดล้อมที่ลูกอยู่นั้นสำคัญต่อการหล่อหลอม ขัดเกลา และสร้างลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมของเด็ก ๆ ดังนั้นสาเหตุของพฤติกรรมที่ลูกแพ้ไม่เป็น อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ลูกใช้เวลาอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูจากที่บ้าน หรือประสบการณ์จากครูและเพื่อนที่โรงเรียน
สังเกตดูว่าเคยมีผู้ใหญ่หรือใครไหม ที่ใช้คำพูดกับลูกเชิงเปรียบเทียบ เชิงกดดัน หรือการชื่นชมที่เน้นผลลัพธ์ เช่นนี้หรือเปล่า?
"เก่งให้ได้อย่างลูกป้าสิ เขาสอบได้เกรดเอทุกวิชาเลย"
"คะแนนวิชานี้ได้ 90 เลยเหรอ ทำไมไม่ทำให้ได้ 100 เต็มเลยล่ะ"
"ลูกแม่สอบได้ที่ 1 ตลอด ไม่มีใครเก่งสู้ลูกแม่ได้ เยี่ยมเลยลูก"
"เก่งจังเลยลูก สอบที่เกรดเอแบบนี้ แม่ไม่อายเพื่อน ๆ แล้ว"
เพราะสังคมรอบตัวของลูกนั้นสำคัญมาก โดยเฉพาะครอบครัว หากในครอบครัวมีการใช้คำพูดเชิงเปรียบเทียบ เชิงกดดัน หรือการชื่นชมที่เน้นผลลัพธ์เช่นนี้ เรามาลด ละ เลิกคำพูดแบบนี้กันนะคะ และปรับเป็นการชื่นชมที่ความพยายามแทน ให้คุณค่ากับความตั้งใจมากกว่าผลลัพธ์ และที่สำคัญคือการไม่คาดหวังว่าลูกจะต้องเก่งที่สุด แค่เขาพยายามเต็มที่เราก็ภาคภูมิใจในตัวเขาแล้ว แบบนี้จะทำให้ลูกรู้สึกไม่กดดันและมีความสุขกับการตั้งใจเรียนหรือทำความความฝันมากขึ้น
นอกจากเหตุผลที่ว่ามานี้ การที่ลูกแสดงพฤติกรรมแพ้ไม่เป็น ไม่สามารถอดทน หรือยอมรับกับความพ่ายแพ้ได้นั้น สาเหตุของการแสดงออกพฤติกรรมเหล่านี้อาจเกิดจาก พลังใจที่ลูกมีนั้นไม่มากพอ
เพราะพลังใจก็เหมือนกับแบตเตอรี่ หากแบตเตอรี่มีอยู่ไม่มาก แน่นอนว่าลูกคงไม่มีแรงที่จะสู้หรือพยายามต่อ สิ่งที่ลูกต้องการคือกำลังใจ และแหล่งพลังงานแรกที่ลูกจะมองหาเพื่อที่จะชาร์จพลังใจให้กลับมาเต็มได้ นั่นก็คือครอบครัว
ดังนั้นหากเราอยากให้ลูกมีพลังใจที่แข็งแรง เป็นเด็กที่มีความมั่นใจ กล้าคิด กล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ สามารถรับมือและจัดการกับอุปสรรคหรือความผิดหวังได้ กำแพงด่านแรกที่เราสามารถปรับได้ง่ายที่สุดและเริ่มได้ทันที คือการเริ่มที่ตัวเรา
จะทำอย่างไรให้เราเป็นแบตเตอรี่สำรองที่ไม่มีวันหมดอายุ ไปดูกันเลย!
1. ปล่อยให้ลูกได้ลอง
เพราะความกังวลกลัวว่าลูกจะทำไม่ได้ ทำพลาด ทำไม่สำเร็จ เราจึงพร้อมที่จะช่วยประคับประคองลูกอยู่ใกล้ ๆ จนบางครั้งก็ทำแทนให้เสียเลย แน่นอนว่าผลลัพธ์จะออกมาถูกใจพ่อแม่อย่างเรา ภารกิจสำเร็จลุล่วงเรียบร้อยสมใจ แต่เมื่อถึงเวลาที่ลูกจะต้องลงมือทำเองเมื่อไหร่ ลูกคงจะต้องการให้เราไปอยู่ช่วยข้าง ๆ อยู่เสมอ เพราะเมื่อไม่มีพ่อแม่อยู่ช่วยเขาจะไม่กล้าลงมือทำ ไม่กล้าคิด หรือตัดสินใจด้วยตัวเอง ส่งผลให้ลูกกลัวความผิดพลาด แพ้ไม่เป็น และไม่มีความมั่นใจ
ท่องเอาไว้ว่าทุกคนย่อมมีครั้งแรกเสมอ เริ่มจากครั้งแรกของพ่อแม่คือการปล่อยให้ลูกได้ทำเอง ให้ลูกได้ลองผิดลองถูกเผชิญหน้ากับปัญหา และหาทางออกด้วยตนเอง พ่อแม่อย่างเรามีหน้าที่สอดส่องดูแลและคอยให้กำลังใจอยู่ห่าง ๆ ชื่นชมในความพยายาม แม้ในครั้งแรกหรือครั้งใดก็ตามที่ลูกพยายามแต่ยังทำไม่สำเร็จ ขอเพียงแค่มีเราคอยเคียงข้าง ชื่นชม และให้กำลังใจในทุก ๆ ความตั้งใจของลูกเสมอ
2. ความผิดหวังก็มีข้อดี
หลายครั้งที่เราจะอดทนเห็นลูกร้องไห้ไม่ได้ เห็นน้ำตาทีไรใจอ่อนทุกที เพราะหัวอกคนเป็นพ่อแม่แน่นอนว่าก็ไม่อยากเห็นลูกเสียใจ หรือต้องพบเจอกับความผิดหวัง แต่ในชีวิตจริงไม่มีใครประสบความสำเร็จในทุก ๆ เรื่อง แน่นอนว่าต้องมีบ้างต้องเจออุปสรรคหรือความผิดหวัง
แต่การพ่ายแพ้ก็มีข้อดี เพราะเราสามารถสอนลูกให้มองความผิดหวังเป็นบทเรียน นำข้อผิดพลาดมาเป็นแรงผลักดันเพื่อพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้น พัฒนาทักษะให้แข็งแรงมากขึ้น และสอนให้เข้าใจว่าไม่มีใครที่จะเป็นผู้ชนะตลอดกาล อีกทั้งการพ่ายแพ้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะล้มเหลวตลอดไป
สิ่งที่เราทำได้คือปลอบใจเมื่อลูกเศร้าเสียใจ แสดงความเข้าอกเข้าใจที่ลูกพ่ายแพ้หรือผิดหวัง ที่สำคัญคืออย่ามองว่า “เรื่องแค่นี้ทำไมต้องร้องไห้” เด็ดขาด เพราะสำหรับลูกการพ่ายแพ้อาจเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเขา ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำคือ ชาร์จพลังใจให้ลูกด้วยการแสดงความรักมอบความอบอุ่น อาจเป็นคำพูดให้กำลังใจหรือการกอด แค่นี้ก็มากเพียงพอที่จะทำให้ลูกรับรู้ได้ว่า เขามีแหล่งพลังงานที่อบอุ่นที่สุดอยู่ใกล้ ๆ เสมอ
3. ชื่นชมที่ความพยายาม
เพราะการให้คุณค่ากับผลลัพธ์ ลูกจะรู้สึกภูมิใจเมื่อเขาได้คะแนนดีหรือได้ชัยชนะ แต่อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่ดี เมื่อผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
“หนูพยายามหาข้อมูล เรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาได้หลายวิธีเลย แม่เป็นกำลังใจให้นะลูก”
“พ่อชอบรูปที่หนูวาดมากเลยนะ หนูพยายามวาดและฝึกผสมสีเองด้วย พ่อภูมิใจในตัวหนูนะ”
“ขอบคุณนะลูกที่ช่วยแม่เก็บกวาด เป็นเพราะลูกมาช่วยแม่ ห้องก็สะอาดขึ้นเยอะเลย”
การให้คุณค่ากับความพยายามหรือการชื่นชมแบบเจาะจงใส่รายละเอียด จึงสำคัญต่อการสร้างพลังใจ แม้ลูกจะต้องพบเจอกับอุปสรรค เขาก็จะพยายามหาทางออกจนสามารถก้าวข้ามไปได้ และประสบความสำเร็จตามเป้าหมายด้วยความภาคภูมิใจ
ทั้งนี้อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก่อนที่เราจะเป็นแบตเตอรี่สำรองให้ลูกได้ อย่าลืมชาร์จพลังใจให้ตัวเองด้วยนะคะ สิ่งใดที่เราสอนลูก ปลอบใจลูก หรือแสดงความรักความใจดีกับลูก อย่าลืมนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้กับตัวเราเอง
เพราะทุกครั้งที่ลูกได้ชาร์จพลังใจจากเรา นอกจากจะทำให้ลูกมีความมั่นใจ อดทนพยายาม และก้าวข้ามอุปสรรคเมื่อพ่ายแพ้หรือผิดหวังได้แล้ว การเติมพลังใจให้ลูกเช่นนี้ก็เหมือนกับการเพิ่มความจุแบตเตอรี่ ทำให้ลูกมีพลังใจที่แข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อลูกได้รับพลังใจเต็มที่แล้วเชื่อเลยว่า ลูกจะพร้อมกลับมาสู้และพยายามทำตามเป้าหมายต่อไป แพ้ได้ไม่เป็นไร เพราะลูกรู้ว่าพ่อแม่จะเป็นแบตเตอรี่สำรองที่แสนอบอุ่นและปลอดภัยให้เขาได้เสมอ
เพราะในวันหนึ่งเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขาเองก็จะพร้อมเป็นแบตเตอรี่สำรองให้กับคนที่เขารักได้เช่นกัน
เพราะเราเข้าใจธรรมชาติการเติบโตของเด็ก ๆ ที่ BrainFit มีกิจกรรมที่ช่วยฝึกทักษะสมองทั้ง 5 ด้าน ที่ช่วยพัฒนาทั้งด้านความจำ สมาธิ ความแข็งแรงของร่างกาย รวมไปถึงความฉลาดทางอารมณ์และการเข้าสังคม ผ่านโปรแกรมและกิจกรรมที่มีความสนุกสนาน มาพัฒนาทักษะสมองของลูกให้แข็งแรง เริ่มได้ตั้งแต่วันนี้!
จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ และ อาทิตย์
02-656-9938 / 02-656-9939 / 02-656-9915
วันพฤหัสบดี-วันศุกร์ 091-774-3769