เลี้ยงลูกให้มีความมั่นใจอย่างถูกวิธี !
“เก่งมาก” “เยี่ยมมาก”
“ลูกแม่เก่งที่สุดในโลกเลยย”
“ไม่มีใครมาเทียบลูกแม่ได้อีกแล้วว”
สำหรับการเลี้ยงลูกรักให้มีความมั่นใจ (High Self-Esteem) ถือเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สมัยนี้ให้ความสำคัญแก่ลูก ๆ เป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้เขากล้าคิด กล้าแสดงออก สามารถเอาตัวรอดและประสบความสำเร็จในชีวิตได้ด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงลูกให้มีความมั่นใจถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ก็มีบางครั้งที่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจเกี่ยวกับ “วิธีการสร้างความมั่นใจที่ผิดวิธี” จนทำให้ลูกรักของเรากลายเป็น เด็กหลงตัวเอง (Narcissism) ?!! ?
ซึ่ง การหลงตัวเอง (Narcissism) จะทำให้เขาไม่สนใจคนรอบข้าง ไม่เห็นอกเห็นใจคนอื่น กลายเป็นคนที่ตั้งตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล และอาจสร้างความยากลำบากให้เขาอย่างมากเมื่อต้องเข้าสังคม พบเจอผู้คนที่มีความหลากหลายขึ้น เช่น การทำงานเป็นทีม การรับฟังผู้อื่น การสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อนใหม่ ๆ หรือการเผชิญกับความคาดหวังที่วางไว้สูง อาจทำให้ลูกรักของเราไม่ทันรับมือกับความผิดหวังได้อย่างแน่นอน
? แล้วอะไรที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าลูกเราเป็นเด็กหลงตัวเอง ?
ซึ่งวันนี้ BrainFit มีงานวิจัยของ Eddie Brummelman และ Constantine Sedikides จากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม และมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน ที่ได้กล่าวไว้ว่า เราสามารถเห็นความแตกต่างของเด็กที่หลงตัวเองและเด็กที่มีความมั่นใจด้วย 3 หัวข้อหลัก ๆ คือ
1. การอยู่กับความเพ้อฝัน สำหรับเด็ก ๆ ที่มีลักษณะหลงตัวเอง จะมีความคิด ทัศนคติในแง่เชิงบวกมากเกินไป จนไม่อยู่กับความเป็นจริง หรือมีความเชื่อว่าตัวเองเก่ง เป็นสิ่งพิเศษเหนือกว่าคนอื่น และหากเห็นว่าคนอื่นประสบความสำเร็จ ก็จะรู้สึกอิจฉา หรือทำร้ายคนอื่น เช่น การผลักเพื่อน หรือกรีดร้อง
ซึ่งเมื่อพูดถึง เด็กที่มีความมั่นใจ จะมองตัวเองตามความเป็นจริง สามารถยอมรับจุดอ่อนได้ และถึงแม้ว่าเขาจะรู้ตัวว่าตัวเองเก่งอะไร
ก็จะไม่พูดหรือแสดงพฤติกรรมข่มเหงคนอื่นให้เขารู้สึกด้อยกว่าตัวเอง
2. การมองตนเป็นผู้ที่เหนือกว่าคนอื่น สำหรับเด็ก ๆ ที่หลงตัวเองมักโหยหาความต้องการที่จะอยู่จุดสูงสุดกว่าคนอื่น ซึ่งมีบ่อยครั้งที่เขาจะมองว่าคนอื่นด้อยกว่าตนเอง ทำให้พวกเขากลายเป็นคนที่ไม่เห็นอกเห็นใจคนอื่น เย่อหยิ่ง ไม่ฟังใคร และชอบบงการคนอื่นมากกว่าที่จะรับฟัง
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ เด็กที่มีความมั่นใจ มักจะสนใจที่จะพัฒนาข้อผิดพลาดของตนเองมากกว่า และพร้อมรับฟังความเห็นของคนรอบข้าง
หรือเรียกอีกอย่างว่าลักษณะของการพัฒนาตนเอง
3. การลดทอนคุณค่าในตัวเอง เราอาจจะคิดว่าเด็กที่เป็นคนหลงตัวเอง มักจะเป็นคนที่มีความมั่นใจและเห็นคุณค่าในตัวเองสูง แต่แท้จริงแล้ว เด็กกลุ่มนี้มักลดทอนคุณค่าในตนเอง เพราะพวกเขามีความคาดหวังสูง และไม่สามารถยอมรับความจริงได้เมื่อต้องรับมือกับสิ่งที่ผิดพลาด จึงทำให้การแสดงออกมาเป็นอารมณ์รุนแรง โมโห อาละวาด หรือรู้สึกละอายแก่ใจ จนนำไปสู่ความเครียดและความวิตกกังวลได้เช่นกัน
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ เด็กที่มีความมั่นใจ พวกเขาจะสามารถเผชิญหน้า และปรับตัวกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับชีวิตพวกเขาได้
แม้ว่าในบางครั้งจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันที แต่ก็จะไม่นำปัญหานั้นมาบั่นทอนชีวิต
✨ แล้วเราจะมีวิธีเลี้ยงลูกให้เขามีความมั่นใจแบบถูกวิธีอย่างไรได้บ้าง?
ดังนั้น BrainFit จึงมีวิธีแนะนำในการเลี้ยงลูกให้มีความมั่นใจอย่างถูกวิธี และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้ลูกรักของเราเป็นคนที่หลงตัวเอง มี 3 ข้อดังนี้
1. ไม่ควรกดดันให้ลูกรักต้องเป็นคนเก่ง เฉิดฉายกว่าคนอื่น ๆ รวมไปถึงการโพสต์รูปพวกเขาลงโซเชียลมีเดีย และให้ความสำคัญกับยอดไลค์ ซึ่งจะทำให้เขาเสพติดความสำเร็จและโหยหาความนิยมชมชอบจากผู้อื่นตลอดเวลา และอาจทำให้จิตใจของลูกรักบั่นทอนทุกครั้งเมื่อต้องเจอความผิดพลาด รวมไปถึงการอิจฉาความสำเร็จของผู้อื่นอีกด้วย
2. ไม่ควรให้รางวัลหรือคำชื่นชมแค่เฉพาะสำหรับความสำเร็จ เช่น ได้ที่หนึ่ง ทำข้อสอบถูกทุกข้อ และแสดงความผิดหวังหรือเฉยชาเพียงเพราะเขาทำได้แค่ผ่านคาบเส้น หรืออยู่ในระดับกลาง ๆ ซึ่งงานวิจัยชี้ว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เด็ก ๆ มีโอกาสที่จะแสดงลักษณะของอาการหลงตัวเอง เช่น การลดคุณค่าของตัวเองเมื่อพบความล้มเหลว หรือการโหยหาคำเยินยอเมื่อตัวเองประสบความสำเร็จ
แต่เปลี่ยนเป็นการให้ความสำคัญกับความพยายามหรือการกระทำของเขาแทน รวมไปถึงการยอมรับข้อผิดพลาดแม้เขาจะไม่ได้ที่หนึ่งหรือเก่งเหมือนคนอื่น แต่เราเห็นความตั้งใจและความพยายามผ่านการกระทำของเขาและเราสามารถนำประสบการณ์ครั้งนี้ไปเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองได้นะ
ในเรื่องของการให้คำชม ลองเลี่ยงคำชมทั่วไปที่เราเคยใช้กันมานะคะ เช่น เก่งมาก ทำดีมาก เยี่ยมที่สุด เพราะเป็นคำพูดที่เขาฟังแล้วนึกภาพไม่ออกเลยว่าเขาเก่งตรงไหน ส่วนไหนที่ทำได้ดี? หรือส่วนไหนที่เขาต้องปรับไหม? และยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าสิ่งที่ลูกรักทำอยู่ตอนนี้มันสมบูรณ์แบบที่สุดแล้ว
คุณพ่อคุณแม่สามารถปรับวิธีการ โดยพูดชมที่การกระทำของเขาได้เลยค่ะ เช่น “ไม่สำเร็จไม่เป็นไร แต่แม่ชอบที่หนูตั้งใจทำมันอย่างเต็มที่เลยนะ” “แม่เห็นว่าหนูตั้งใจกับวิชาคณิตมากเลย และแม่รู้ว่าหนูต้องแก้โจทย์ได้แน่นอนเมื่อหนูค่อย ๆ ฝึกฝนไปเรื่อย ๆนะ”
3. การให้ตัวเลือกแก่ลูกรักมากเกินไป ซึ่งการที่เราอยากให้เขามีส่วนร่วมกับกิจกรรมในครอบครัวนั้นถือเป็นเรื่องที่สร้างความมั่นใจให้ลูกรักได้ดี แต่บางครั้งการที่เราคอยให้เขาตัดสินใจอะไรเองทุกอย่าง เช่น “วันนี้หนูอยากทานอะไรคะ” “หนูอยากไปชอปปิงด้วยกันไหมคะ” “มื้อเย็นวันนี้อยากกินอะไรเป็นพิเศษไหมคะ” สิ่งเหล่านี้จะเป็นการทำให้เขารู้สึกมีอำนาจในการควบคุมและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ มากเกินไป
แต่ลองเปลี่ยนจากให้เขาตัดสินใจเลือก เป็นการบอกเขาแทนค่ะ เช่น “วันนี้เราจะไปซื้อของกันนะ” หรือในบางสถานการณ์เราสามารถให้ตัวเลือกเขาได้แต่ต้องมีเงื่อนไขนะคะ เช่น “วันนี้แม่จะให้หนูเล่นมือถือแค่ 1 ชั่วโมง แต่หนูเลือกได้เลยว่าจะเล่นเกมหรือแอพอะไร”
ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้วิจัยได้ให้ข้อสรุปว่าลักษณะของความแตกต่างที่กล่าวมาข้างต้น ไม่สามารถใช้เป็นแนวทางในการระบุตัวตนของเด็กแต่ละคนได้ชัดเจนแน่นอน เช่น เด็กคนหนึ่งอาจจะมีบุคลิกชอบทำตัวเหนือกว่าคนอื่นและพร้อมพัฒนาตัวเองไปพร้อมกันก็เป็นได้ แต่งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโปรแกรมหรือแบบทดสอบ เพื่อใช้ในการรักษาและเยียวยาลักษณะบุคลิกภาพของเด็ก ๆ ในอนาคตต่อไป
ที่ สถาบัน BrainFit ของเรามีโปรแกรมการฝึกทักษะทางด้านอารมณ์ให้แก่เด็ก ๆ รวมไปถึงการฝึกสมาธิ ผ่านการทำกิจกรรมที่หลากหลายร่วมกับเพื่อน ๆ เพื่อฝึกทักษะการเข้าสังคม การเข้าใจอารมณ์ของตนเอง และสามารถการปรับมุมมองความคิดไปในเชิงบวกได้อีกด้วย !
Source: ANITTHA R (2019), Brummelman E, & Sedikides C (2020) and Nina Garcia (2021).
จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ และ อาทิตย์
02-656-9938 / 02-656-9939 / 02-656-9915
วันพฤหัสบดี-วันศุกร์ 091-774-3769