วิธีเตรียมพร้อม รับมือกับความเครียดช่วงสอบ
ใกล้จะเข้าสู่ช่วงเวลาที่เด็กนักเรียนหลายคนจะได้เตรียมตัวสอบกันอีกแล้ว การรับมือกับความเครียดช่วง การเตรียมตัวสอบ ก่อนสอบ และหลังสอบ คาดว่าไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นที่รู้สึกเครียด ผู้ปกครองเองก็คงเครียดด้วยไม่น้อยเลยทีเดียว
การรับมือในการสอบเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับเด็กและผู้ปกครองหลายท่าน ผู้ปกครองสามารถช่วยเหลือและเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อให้ผ่านไปได้อย่างราบรื่น เรามาดูกันว่า มีวิธีใดบ้างที่จะช่วยให้ลดความเครียดและผ่านไปได้อย่างราบรื่นกัน
มาดูกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้ปกครองนำไปใช้ ในการช่วยเหลือเด็กนักเรียนเตรียมพร้อมรับความเครียดช่วงสอบกัน
⚈ เตรียมตัวก่อนการสอบ ⚈
1. จัดหาสถานที่ ที่เงียบ ไม่มีสิ่งรบกวนรอบข้าง ไว้สำหรับให้เด็กได้อ่านหนังสือหรือทบทวนบทเรียน ในบริเวณที่ไม่ควรมีทีวี หรือใกล้กับโต๊ะรับประทานอาหาร พยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่จะทำให้เด็กรู้สึกวอกแวกได้ง่าย
2. จัดเตรียมสถานที่และบริเวณที่นั่งให้สะอาด และเป็นระเบียบเรียบร้อย
3. เตรียมวิชาหรือเนื้อหาที่เด็กจะต้องทบทวน และเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละวัน
4. ช่วยเหลือและวางแผนในการจัดตารางสำหรับอ่านหนังสือ
5. เสริมเวลาในการพักเบรก ทุก ๆ 30 นาที ควรพักเบรกประมาณ 5 นาที เพื่อให้สมองและร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียดต่อเนื่องเป็นเวลานาน
6. พูดคุยและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายและความคาดหวังทั้งของเด็กและผู้ปกครองว่าอยู่ในระดับใด เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกัน และไม่สร้างความกดดันให้เด็กมากจนเกินไป
7. ส่งเสริมเรื่องการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง การรับประทานที่เพียงพอ การออกกำลังกาย รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การมีสุขภาพดีจะช่วยให้เด็กมีความสามารถในการรับมือกับการเตรียมสอบด้วย
8. จัดสรรเวลาจากการทบทวนบทเรียน ให้เด็กได้พบปะหรือพูดคุยกับเพื่อนบ้าง เพื่อเป็นการผ่อนคลายกับเวลาตึงเครียดที่อยู่กับบทเรียนมากจนเกินไป
9. ผู้ปกครองจะต้องคอยบอกเด็กเสมอว่า ผู้ปกครองสามารถให้คำปรึกษาหรือยินดีให้ความช่วยเหลือได้เมื่อเด็กต้องการความช่วยเหลือ เพื่อส่งเสริมให้เด็กกล้าถามและปรึกษาเมื่อต้องการความช่วยเหลือ
10. ช่วยเด็กทบทวนบทเรียนที่ได้เรียนไปแล้วในแต่ละวัน หากพบว่าเด็กไม่สามารถจำได้ หรือ มีปัญหาในการจดจำข้อมูล ควรช่วยเหลือและหาเทคนิคในการช่วยจำ เช่น ให้เด็กจดโน๊ต หรือ หาอุปกรณ์หรือปากกา ดินสอ สติกเกอร์ ไว้สำหรับเขียนหรือระบายข้อความให้เด็กจำได้ง่ายขึ้น
11. หาวิธีการออกกำลังกายแบบผ่อนคลาย เช่น กิจกรรมโยคะ หลังจากการทบทวนบทเรียน เพื่อให้ร่างกายและสมองรู้สึกผ่อนคลาย หรือฟังเพลง เล่นดนตรี อยู่กับสัตว์เลี้ยงเพื่อสร้างความผ่อนคลาย และให้สมองได้พักเติมพลังอีกครั้ง
⚈ ในช่วงวันสอบ ⚈
1. ตรวจสอบวัน เวลา สถานที่ และวิชาที่สอบให้พร้อม เพื่อป้องกันอาการตื่นตระหนกหรือหลงลืม
2. จัดตารางเวลา ตั้งนาฬิกาปลุกเพื่อให้ตื่นนอน และเผื่อเวลาให้เพียงพอสำหรับรับประทานอาหารและการเดินทางไปยังสถานที่สอบ
3. เตรียมอุปกรณ์ ปากกา ดินสอ เครื่องเขียน และอุปกรณ์สำรองให้เพียงพอ สำหรับที่ต้องใช้ในห้องสอบให้พร้อม
4. เตรียมอาหารเช้าให้พร้อม เพราะการสอบนั้นเด็กนักเรียนจะต้องใช้พลังงานมาก ผู้ปกครองควรเลือกอาหารที่ให้พลังงานเพียงพอและถูกโภชนาการ
5. แนะนำให้เด็กรู้จักวางแผนเวลา และเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนเข้าห้องสอบ เพราะหากเด็กรู้สึกกังวลหรือกระวนกระวายอาจส่งผลให้เด็กรู้สึกท้องไส้ปั่นป่วนได้
6. แนะนำให้เด็กอ่านโจทย์หรือคำสั่งให้รอบคอบก่อนตอบคำถาม
7. สอนเทคนิคให้เด็กรู้จักควบคุม วางแผนเวลาที่มีให้เพียงพอสำหรับทำข้อสอบ โดยฝึกให้เลือกทำข้อที่ง่ายก่อน จากนั้นกลับมาทำข้อที่คิดว่ายากและต้องใช้เวลามากกว่าข้ออื่น ๆ ทีหลัง
⚈ หลังจากวันสอบ ⚈
1. สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสอบได้ผ่านพ้นไปแล้ว หากเด็กรู้สึกว่าตนเองทำพลาด หรือทำได้ไม่ดี ผู้ปกครองควรช่วยเหลือและให้กำลังใจที่เด็กได้พยายามเต็มที่แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กรู้สึกผิดหวังหรือรู้สึกเครียดในสิ่งที่เกิดขึ้น
2. หากเด็กไม่สามารถทำข้อสอบผ่านหรือผลลัพธ์ที่ได้นั้นไม่เป็นที่น่าพอใจ ผู้ปกครองจะต้องพึงระลึกเสมอว่า ยังมีอีกหลายสิ่งที่เด็กยังมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ หรือทำสิ่งอื่นได้ดีเช่นกัน ผลสอบอาจไม่ใช่ตัวที่จะตัดสินทุกอย่าง เพื่อป้องกันไม่ให้ทั้งเด็กและตัวเรายึดติดกับผลการสอบมากจนเกินไป สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การกระตุ้นและส่งเสริมในความพยายามที่เด็กได้ทำลงไป เรียนรู้และเตรียมพร้อมสำหรับการสอบครั้งไป
ที่ BrainFit เราพัฒนาศักยภาพสมองของเด็ก ๆ แต่ละด้านให้แข็งแรง เพื่อให้เด็ก ๆ มีความพร้อมและมีทักษะการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้ จะทำให้เด็กมีความพยายาม มีความสุขและพร้อมเรียนรู้กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น
BrainFit เปิดรับสมัคร
พัฒนาศักยภาพสมองและสมาธิเด็ก 3-18 ปี
โทร 02-656-9938 / 02-656-9939 / 02-656-9915
ที่มา: thenewageparents.com