ลูกไม่เชื่อฟัง แค่ไหนก็เอาอยู่ ถ้าเราเป็น…
คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองของเด็ก ๆ กำลังประสบปัญหานี้อยู่หรือเปล่า ?
-
ลูกไม่เชื่อฟัง
-
ลูกดื้อ
-
ลูกเอาแต่ใจ
-
ลูกใจร้อน หงุดหงิดง่าย
ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ได้ วันนี้ BrainFit ขอนำเสนอวิธีการรับมือ ที่เริ่มปรับจากตัวเรา ไม่ว่าลูกจะดื้อแค่ไหนก็เอาอยู่ ถ้าอยากรู้ว่าต้องทำอย่างไรไปตามอ่านกันได้เลย!
ก่อนอื่นเรามาลองย้อนเวลาไปด้วยกัน ลองนึกย้อนไปตอนเราเป็นเด็ก ๆ นึกถึงผู้ใหญ่ที่เราเคยเจอในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย มีผู้ใหญ่แบบไหนบ้างที่เรารู้สึกไม่ชอบ เจอทีไรก็มีแต่จะทะเลาะหรือไม่ก็ทำให้เราหงุดหงิดจนร้องไห้ แล้วมีผู้ใหญ่แบบไหนบ้างที่เรารู้สึกดีใจสุด ๆ มีความสุขทุกครั้งที่ได้เจอ ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันทีไรก็มีแต่เสียงหัวเราะ
วันนี้เราจะมาเรียนรู้และวิเคราะห์ลักษณะของผู้ใหญ่ทั้ง 2 แบบ แล้วมาดูกันว่าการจะเป็นขวัญใจของเด็ก ๆ นั้นทำได้ไม่ยาก เพราะไม่ว่าเด็กจะดื้อหรือซนแค่ไหน เราก็เอาอยู่แน่นอน
แบบแรก ผู้ใหญ่ที่เด็ก ๆ (มักจะ) ไม่ชอบ
ตอนเราเป็นเด็กเมื่อเราเจอผู้ใหญ่ประเภทนี้ทีไร เราแทบจะไม่ค่อยรู้สึกดีใจ หรือตื่นเต้นเมื่อพบเจอ เพราะผู้ใหญ่ประเภทนี้มักจะมองว่าเราเป็นเด็กดื้อ เป็นเด็กไม่เอาไหน ทั้งยังคอยแต่จะพูดในสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดี เช่น เปรียบเทียบ ประชดประชัน ห้ามนู่นห้ามนี่ หรือคอยออกคำสั่ง แถมยังไม่เคยรับฟัง ออกแนวบ่น หรือใช้คำพูดในทางลบเยอะเสียจนเรารู้สึกเอือมระอา
“สอบได้คะแนนเยอะเลยหรอ ไปแอบลอกใครมารึเปล่าเนี่ย”
“เสาร์-อาทิตย์เอาแต่เล่นอยู่บ้าน ไม่ไปเรียนหนังสือเหรอ เดี๋ยวโตไปก็ไม่มีงานทำหรอก”
“ตายแล้ว ทำไมกินข้าวมูมมามเลอะเทอะเหมือนหมูเลย”
ได้ยินแค่นี้ก็รู้สึกปรี๊ดขึ้นมาเลยใช่ไหมคะ จริง ๆ แล้วผู้ใหญ่ประเภทนี้(บางคน) ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เรารู้สึกแย่ แต่ด้วยความรักและความเป็นห่วง รวมถึงการเติบโตจากสังคมการเลี้ยงดูที่แตกต่างจากเรา จึงทำให้การแสดงออกทางคำพูดหรือการกระทำของผู้ใหญ่ประเภทนี้จะค่อนข้างไปในทางลบ เป็นเหตุผลว่าทำไม? เราถึงไม่ชอบและไม่อยากจะคุยกับผู้ใหญ่ประเภทนี้บ่อย ๆ นั่นเอง
แบบที่สอง ผู้ใหญ่ขวัญใจเด็ก
ไม่ว่าเราจะเป็นเด็กดีหรือเด็กดื้อ ผู้ใหญ่ประเภทนี้จะเข้าใจและสามารถใช้เวลาร่วมกับเราได้ดีสุด ๆ เพราะต่อให้เราจะเป็น ลูกไม่เชื่อฟัง ดื้อ ซนยิ่งกว่าลิง พวกเขาก็ไม่เคยพูดประชดประชันหรือตีตราว่าเราเป็นเด็กแบบไหน แต่พร้อมที่จะรับฟัง ชื่นชม และเคียงข้างเราในทุกสถานการณ์ พอเจอผู้ใหญ่ประเภทนี้เข้าไป เราก็พร้อมที่จะเชื่อฟัง อยากจะเข้าไปเล่นด้วย และอยากจะใช้เวลาอยู่ด้วยนาน ๆ
“โอ้โห เทอมนี้สอบได้คะแนนเยอะเลย เพราะความพยายามและความตั้งใจเต็มที่ หนูทำได้ดีมาก ๆ เลยนะลูก ป้าภูมิในในตัวหนูนะ”
“เสาร์-อาทิตย์นี้ถ้าหนูทำการบ้านเสร็จแล้ว เราไปเล่นกันที่สนามเด็กดีไหมลูก เห็นว่ามีสระว่ายน้ำอยู่ใกล้ ๆ ด้วยนะน่าสนุกมากเลย”
“ค่อย ๆ เคี้ยวข้าวนะลูกไม่ต้องรีบ ไหนมาลองนับไปด้วยกันเคี้ยวถึง 20 ครั้งหรือเปล่า”
จากตัวอย่างของผู้ใหญ่ ทั้ง 2 ประเภท เราจะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้ว ผู้ใหญ่ทั้งสองกลุ่มต้องการจะสื่อสารกับเด็ก ๆ ด้วยประเด็นเดียวกัน เพียงแต่วิธีการพูดนั้นต่างกันมาก ๆ ถ้าเราเป็นเด็กเราจะเลือกรับฟังและเชื่อฟังผู้ใหญ่ประเภทใดมากกว่า ตัดสินได้ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ
ไม่รอช้า! เรามาดูกันดีกว่าว่า การจะเป็นผู้ใหญ่ขวัญใจเด็ก ให้ได้นั้นต้องทำอย่างไร ?
ฝึกทำใจให้เย็นและนิ่งเข้าไว้กับทุกสถานการณ์
เพราะสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามา ทั้งเรื่องงาน ครอบครัว สังคม บางครั้งก็ทำให้เราฟิวส์ขาดหรือหงุดหงิดจนทนไม่ไหว แต่ถ้าเราเอาตัวเองที่อยู่ในอารมณ์นั้นหันไปพูดกับลูก แน่นอนว่าลูกเองก็คงไม่อยากฟัง บางครั้งอาจจะเถียงกลับด้วยน้ำเสียงที่ไม่น่ารัก เหมือนเป็นการโยนระเบิดอารมณ์อีกลูกกลับมาใส่เรา
ดังนั้นก่อนจะเข้าไปคุยกับลูก ขอให้มั่นใจว่าตอนนั้นเราใจเย็น เราควบคุมอารมณ์ได้ เราสามารถคุยด้วยเหตุผลกับลูกได้ พร้อมที่จะทำความเข้าใจในความคิดและมุมมองที่แตกต่างของลูก
แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์ที่เราควบคุมอารมณ์ไม่ได้ล่ะ?
ลองสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ สัก 2-3 ลมหายใจ กล้าที่จะยอมรับ แล้วบอกลูกด้วยน้ำเสียงที่นิ่งและชัดเจน เช่น
“ตอนนี้แม่กำลังโมโหมาก ๆ เพราะลูกตะโกนเสียงดังใส่แม่ แม่ขอออกจากห้องไปสงบสติก่อน แล้วเดี๋ยวเรามาคุยกันนะคะ”
หากเผลอเสียงดังตะโกนใส่ลูกหรือดุลูกด้วยถ้อยคำที่รุนแรงไปแล้ว
สิ่งที่ควรทำคือ "กล้าที่จะขอโทษ" ในสิ่งที่เราทำลงไปอย่างกล้าหาญ เมื่อเราทำผิดแล้วกล้ายอมรับผิดและขอโทษ
“แม่ขอโทษที่เสียงดังใส่หนูนะ แม่โมโหมากจนควบคุมตัวเองไม่ได้ เพราะแม่เองก็รู้สึกไม่ดีที่หนูตะโกนพูดกับแม่แบบนั้น หนูคงเสียใจมากใช่ไหม แม่ขอโทษนะลูก ต่อไปแม่จะพยายามควบคุมอารมณ์นะ”
เพราะการที่เรากล้าขอโทษ กล้ายอมรับความผิด กล้าที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจ ไม่ว่าพฤติกรรมการแสดงออกของเราเป็นแบบไหน ลูกจะเรียนรู้และนำวิธีการรับมือนี้ไปปรับใช้กับตัวเขาเอง
ฝึกชื่นชม และให้กำลังใจลูกเสมอ
ทุกครั้งที่ลูกกำลังพยายามทำบางอย่างด้วยความตั้งใจ โอกาสนี้แหละที่เราจะช่วยให้เขาเป็นเด็กที่มีความพยายาม มุ่งมั่น และมีความมั่นใจ ถึงแม้ผลลัพธ์อาจจะออกมาไม่ดีที่สุด แต่เขาก็จะภูมิใจในตัวเองที่ได้ลงมือทำ ซึ่งวิธีนี้ก็คือ การชมที่ความพยายาม
“โอ้โห หนูพยายามสร้างโมเดลตัวต่อด้วยตัวเอง คิดและออกแบบเองด้วย พ่อภูมิใจในตัวหนูมากนะ”
“หนูพยายามหาวิธีแก้โจทย์เลขได้หลากหลายเลยนะ ค่อย ๆ คิดนะลูก แม่ว่าเดี๋ยวเราต้องได้คำตอบแน่นอน”
“หนูพยายามอ่านทบทวนวิชานี้มาตลอดทั้งเดือนเลย ทำได้ดีมากเลยนะ พ่อภูมิใจมาก ๆ ที่เห็นหนูตั้งใจและพยายามสุดความสามารถ”
“แม่ชอบลายเส้นที่หนูวาดมากเลยนะ หนูตั้งใจวาด และค่อย ๆ เติมรายละเอียดลงไปในภาพ สำหรับแม่ภาพนี้มีความหมายและมีคุณค่ามากเลย”
การชื่นชมเช่นนี้ จะทำให้ลูกมองเห็นถึงความสำคัญของการตั้งใจและพยายาม มากกว่าผลลัพธ์ อีกทั้งยังรู้สึกถึงความรักและกำลังใจที่ดีจากครอบครัว ซึ่งสิ่งนี้เองจะส่งผลให้เขาเป็นเด็กที่มีความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ ถึงแม้จะประสบกับความผิดหวัง เขาก็จะสามารถเข้าใจและก้าวข้ามผ่านอุปสรรคไปได้
👨👩👧👦 เพราะเขารู้ว่าเขามีเราที่เป็นทั้งครอบครัว เป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งพื้นที่ปลอดภัยให้เขากลับมาเติมพลังและเติมกำลังใจได้เสมอ 🏡
จริง ๆ แล้วการรับมือและจัดการกับ ลูกไม่เชื่อฟัง นั้นไม่ยากและไม่ง่าย แต่เริ่มได้จากตัวเราเอง แล้วตอนนี้เรากำลังเป็นผู้ใหญ่แบบไหนอยู่ หรือเป็นทั้ง 2 แบบ เราเองก็สามารถเลือกที่จะปรับและฝึกฝนได้นะคะ สิ่งแรกที่ควรทำคือการรับฟังเด็ก พยายามเข้าใจในมุมมอง ความคิด และความไม่รู้ประสาของเด็ก เพราะผู้ใหญ่ขวัญใจเด็ก คือเพื่อนที่เข้าใจและเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเข้าได้นั่นเอง
เพราะเราเข้าใจธรรมชาติการเติบโตของเด็ก ๆ ที่ BrainFit มีกิจกรรมที่ช่วยฝึกทักษะสมองทั้ง 5 ด้าน ที่ช่วยพัฒนาทั้งด้านความจำ สมาธิ ความแข็งแรงของร่างกาย รวมไปถึงความฉลาดทางอารมณ์และการเข้าสังคม ผ่านโปรแกรมและกิจกรรมที่มีความสนุกสนาน มาพัฒนาทักษะสมองของลูกให้แข็งแรง เริ่มได้ตั้งแต่วันนี้!
เริ่มต้นกับ BrainFit เรายินดีให้คำปรึกษาฟรี!
จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ และ อาทิตย์
02-656-9938 / 02-656-9939 / 02-656-9915
วันพฤหัสบดี-วันศุกร์ 091-774-3769