พ่อแม่ยุคใหม่ หลีกเลี่ยงคำพูดทลายความตั้งใจลูกรัก

พูดอย่างไร ไม่ให้ทลายความตั้งใจของลูกรัก

คุณพ่อคุณแม่ทุกคนล้วนต้องการให้ลูกรักเป็นเด็กดี เรียนเก่ง และมีความสามารถ เพื่อจะได้เติบโตและประสบความสำเร็จ ทำให้บางครั้งความหวังดีของเราอาจกลายเป็นการตั้งความหวัง และเกิด “ความคาดหวัง” ได้  ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ผิดหรอกนะคะ แต่บางครั้งความคาดหวังของเราที่แสดงออกมาทางคำพูดหรือการกระทำอาจไปทำร้ายความมั่นใจหรือหยุดการเรียนรู้ของลูกได้โดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นการสื่อสารเพื่อสร้างพลังในเชิงบวกเพื่อให้ลูกลุยกับทุกการเรียนรู้นั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

วันนี้เราจะมานำเสนอคำพูดที่ควรใช้และไม่ควรใช้ในการสื่อสารกับลูกในขณะที่เด็กๆต้องทำการบ้าน เรียนหนังสือ ทบทวนบทเรียน หรือฝึกความเป็นระเบียบค่ะ เนื่องจากสถานการณ์เหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเจอทุกวันอยู่แล้วเมื่ออยู่กับลูก ลองมาดูกันเลยค่ะ

 

 

1. มีสมาธิกว่านี้หน่อยซิ! ตั้งใจให้มากกว่านี้หน่อย!  

ดูจะเป็นคำพูดที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจพูดบ่อยๆ เมื่อลูกไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควรในเวลาทำการบ้าน ทบทวนบทเรียน หรือซ้อมดนตรี เพราะบางครั้งการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นสำหรับเด็กมันไม่ง่ายเหมือนผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ธรรมชาติของเด็กนั้น การจดจ่อกับอะไรนานๆ อาจเป็นเรื่องยากสำหรับเขา เมื่อเราเข้าใจเช่นนี้แล้ว สิ่งถัดไปที่ควรทำคือ มองดูว่าสิ่งใดที่ทำให้ลูกขาดความสนใจในเวลานั้น ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่ต้องทำการบ้านคณิตศาสตร์ ลูกเริ่มยุกยิกและหันเหความสนใจไปที่อื่น เป็นไปได้ไหมว่า โจทย์เลขที่ลูกเจอนั้นมันยากเกินความเข้าใจของเขา ทำให้เขารู้สึกเบื่อและไม่อยากทำ เมื่อเราพยายามเข้าใจสถานการณ์ของเขา มองให้ลึกกว่าพฤติกรรมของตัวเขาในขณะนั้น จะทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจลูกได้มากขึ้น ผลที่ตามมาคือ การสื่อสารที่มีความเห็นอกเห็นใจและแสดงถึงความเข้าใจที่ทำให้ลูกสัมผัสได้ เพราะแทนที่เราจะพูดว่า “ทำไมไม่ตั้งใจเลย” “ทำไมไม่มีสมาธิเลย” จะเปลี่ยนเป็น “ไม่เข้าใจตรงไหนรึเปล่า” “เรามาแก้โจทย์ข้อนี้ด้วยกันไหม” นั้นจะช่วยสร้างแรงผลักดันในเชิงบวก ให้เด็กกล้าลองกล้าเรียนรู้สิ่งที่เขาคิดว่ายาก ทำให้เกิดเป็นความมั่นใจเมื่อเขาต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อีกด้วย

 

2. “ ข้อนี้ทำผิดนะ”

สถานการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นขณะที่เราสอนการบ้านลูกหรือทบทวนบทเรียนด้วยกัน เมื่อเห็นลูกที่กำลังตั้งใจทำการบ้านตอบผิดหรือใช้วิธีคิดที่ไม่ถูกต้อง มันก็อดไม่ได้ที่จะรีบบอกไปให้ลูกรู้ตัว สิ่งนี้อาจทำให้ลูกแก้โจทย์ได้ถูกได้จริง แต่คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่า นั่นอาจเป็นการทำลายความมั่นใจในตัวเขาไปแล้วก็ได้ จะดีกว่าไหม หากเรารู้ว่าลูกทำผิด ก็ปล่อยให้เขาทำผิดไป เรียนรู้จากเขาว่า เขามีวิธีคิดแบบไหนจึงได้คำตอบแบบนี้ ไม่แน่ว่า วิธีการคิดของลูกอาจทำให้คุณประหลาดใจในความมีจินตนาการของเขาจนคุณอดชมไม่ได้เลยก็ได้ และเมื่อทราบถึงวิธีคิดของลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่จึงค่อยสอนวิธีคิดที่ถูกต้องเพื่อให้ลูกเข้าใจและไม่ทำลายความมั่นใจของเขา

 

 

3. ถ้าไม่ตั้งใจเรียนหนังสือ โตขึ้นจะลำบากเอานะ!

หลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่าหมดหนทางจะงัดมาต่อรองกับความไม่ตั้งใจเรียนของลูก จะต้องพูดยังไงนะ เพื่อให้ลูกลุกขึ้นมาสนใจบทเรียน ทบทวนตำรา เพราะรู้ทั้งรู้ว่าถ้าวันนี้เด็กๆ ไม่ตั้งใจ อนาคตโตขึ้นไปจะลำบากเพราะมีความรู้ไม่เพียงพอ ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจว่า เด็กๆ อยู่ในวัยที่ห่างไกลกับเรื่องของอนาคตนัก แม้เราจะปลูกฝังให้ลูกทำความเข้าใจว่าการตั้งใจเรียนหนังสือจะทำให้อนาคตพวกเขามีงานดีๆ ทำก็ตาม แต่สิ่งที่เด็กๆ สนใจในแต่ละวันคือ ได้กิน ได้เล่น ได้สนุก พวกเขายังไม่โตพอที่จะเข้าใจสิ่งที่พวกเราพล่ำบอกอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรเปลี่ยนคือ ดึงความสนใจของลูกมาเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาอยากเรียนรู้เพิ่ม ยกตัวอย่างเช่น ลูกมีความสนใจด้านศิลปะ มักเอาเวลาว่างไปวาดรูป ระบายสี ไม่ค่อยทบทวนบทเรียนด้านวิชาการ จากที่จะพูดว่า “ถ้าไม่ตั้งใจเรียน อนาคตจะลำบากนะ” ให้เปลี่ยนเป็น “ถ้าหนูชอบวาดรูป อยากเป็นนักวาดรูปเก่งๆ เรามาดูกันซิว่า ต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มบ้าง” หลังจากนั้นก็เชื่อมโยงความรู้อื่นๆ ให้สอดคล้องกับสิ่งที่เขาสนใจ

 

 

4. “ทำให้มันดีๆ หน่อย”

คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่าคำว่า “ทำให้มันดีๆ” นั้นเป็นคำที่เด็กๆ เข้าใจยากมากๆ เพราะมันไม่มีความหมายที่ตายตัวว่าควรทำให้ดีระดับไหน คำพูดนี้จะสร้างความสับสนให้กับเด็กๆ และความไม่มั่นใจได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเปลี่ยนคือ วิธีการสื่อสาร หากต้องการให้ลูกประพฤติตัวหรือพยายามในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็ควรบอกพวกเขาให้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะพูดว่า “ไปโรงเรียนก็ทำตัวให้มันดีๆนะคะ” ให้เปลี่ยนเป็น “ไปโรงเรียน ตั้งใจเรียน เชื่อฟังคุณครูนะคะ” หรือหากต้องการให้ลูกจัดการกับของเล่นที่กระจัดกระจายอยู่บนพื้นก็ควรบอกให้ชัดเจน เช่น “เก็บของเล่นใส่กล่องให้เรียบร้อย” คำพูดเหล่านี้จะทำให้เด็กๆ เข้าใจมากขึ้นว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้พวกเขาทำตัวอย่างไร

 

“เฮ้ออ.."

การถอนหายใจเป็นการกระทำที่ไร้คำพูดแต่เต็มไปด้วยอิทธิพลที่สามารถทำร้ายจิตใจของลูกรักได้ แน่นอนว่าในบางเวลาที่คุณพ่อคุณแม่รู้สึกท้อ มันเลยอดไม่ได้ที่จะแสดงออกมาเมื่อเห็นลูกรักของเราไม่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่คาดหวัง เช่น ผลการเรียนตกลง คุณครูแจ้งว่าลูกรักไม่ต้องใจเรียนเท่าที่ควร หรือแม้แต่การนั่งทำการบ้านด้วยกันและลูกไม่เข้าใจซักทีแม้จะอธิบายไปแล้วหลายครั้ง แต่รู้หรือไม่ว่า การถอนหายใจใส่ลูกในเวลานั้น จะทำลายความตั้งใจและความมั่นใจของเด็กไปเต็มๆ เพราะเด็กๆจะมองพ่อแม่เป็นเหมือนทุกสิ่งทุกอย่าง การถอนหายใจแสดงออกถึงความผิดหวังที่เด็กๆรับรู้ได้ นั่นเปรียบเสมือนแรงกดดันอีกหนึ่งทางที่เด็กๆ จะรู้สึก สิ่งที่พ่อแม่ควรทำนั้นง่ายนิดเดียวคือ หลีกเลี่ยงการแสดงออกนั้นต่อหน้าลูกรักและทบทวนกับตัวเองดูซิว่าความหวังที่เราตั้งไว้นั้นมันมากจนเผลอไปกดดันเขาหรือไม่

 

 

เห็นมั้ยล่ะคะว่าคำพูดนั้นสำคัญแค่ไหน หากต้องการให้ลูกรักมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดีและมีแรงผลักดันในเชิงบวก วิธีง่ายๆ คือการปรับที่คำพูดของคุณพ่อคุณแม่เอง เพื่อให้เขารับรู้ถึงความหวังดีของเราและมีกำลังใจในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในทุกๆวัน

 

พิเศษ! สถาบัน BrainFit มีคลาสเรียนมาแจกคุณพ่อคุณแม่ที่มีบุตรหลานอายุตั้งแต่ 4 ขวบขึ้นไปฟรี!

เด็กๆ จะได้สนุกกับการฝึกทักษะการเรียนรู้ในรูปแบบของเกม และพัฒนาทักษะสมาธิ การคิดวิเคราะห์ และภาษาอังกฤษไปพร้อมๆ กัน

 

ลงทะเบียนรับสิทธิ์ คลิ๊กเลย! 

ติดต่อเพื่อปรึกษาเจ้าหน้าที่ 02-656-9938

Contact Us

หากคุณสนใจคอร์สหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อเราได้เลย

BrainFit Studio Thailand ชั้น 2, อาคารเพลินจิตเซ็นเตอร์,
สุขุมวิทซอย 2, กทม. 10110BTS สถานีเพลินจิต ทางออก 4

091-774-3769 02-656-9938 02-656-9939 Line ID: @brainfit_th