ป้องกัน แก้ไข ปัญหาลูกติดเกม
ลูกติดเกม ยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำให้หลายครอบครัวกังวลใจเพราะ เกมเป็นเครื่องมือที่ให้ความบันเทิงและความสนุกสนานทั้งต่อเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดและเสริมสร้างความสุขได้ หากเล่นในระยะเวลาที่เหมาะสม แต่ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็วอย่างทุกวันนี้ มีเกมออนไลน์ผลิตออกมามากมายหลายรูปแบบ จนบางครั้งผู้ปกครองหลายท่านอาจตามลูกไม่ทัน อาจลืมสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกหลาน โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ใช้เวลาอยู่กับเกมติดต่อกันหลายชั่วโมงต่อวัน จนอาจถึงขั้นที่ทำให้ลูกติดเกมในที่สุด
เรามาลองดูกันว่าลักษณะหรือพฤติกรรมแบบไหน เป็นสัญญาณเตือนว่า “ ลูกติดเกม ”
สัญญาณบ่งบอกว่า ลูกติดเกม
- หมกมุ่นหรือใช้เวลาเล่นหลายชั่วโมง
ลูกเริ่มไม่สนใจกิจกรรม งานอดิเรก หรือสิ่งที่เคยชอบทำอีกต่อไป ไม่สนใจหรืออยากทำอย่างอื่นนอกจากการเล่นเกมและเล่นต่อเนื่องเป็นเวลานาน จากเดิมที่ลูกอาจจะชอบวาดรูป อ่านหนังสือ เล่นของเล่น หรือออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านกับเพื่อน ๆ ลูกก็เริ่มให้ความสำคัญกับเกมในคอมพิวเตอร์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนสังเกตได้ว่าลูกเริ่มมีกิจวัตรประจำวันที่เปลี่ยนไป จากที่เคยชอบทำหลาย ๆ อย่าง ก็เหลือแค่เพียงการเล่นเกมอย่างเดียว
- ควบคุมเวลาเล่นไม่ได้
เมื่อลูกเริ่มเล่นเกมแล้ว มักใช้เวลาในการเล่นนานหลายชั่วโมงต่อวัน เมื่อลูกเล่นต่อเนื่องหลาย ๆ วัน ทำให้ชั่วโมงในการเล่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนยากที่จะควบคุม บางคนถึงขั้นเล่นข้ามวันข้ามคืนเลยทีเดียว นี่เริ่มเป็นสัญญาณอันตรายที่แสดงออกมาให้พ่อแม่ได้เห็นแล้วว่าการเล่นเกมเป็นสิ่งที่ลูกขาดไม่ได้ จนส่งผลหรือปัญหาทำให้ลูกควมคุมเวลาและควบคุมตัวเองให้เลิกเล่นไม่ได้อีกต่อไป
- ต่อต้านเมื่อให้หยุดเล่น
ลูกแสดงอารมณ์รุนแรง หงุดหงิด หรือไม่พอใจ บางคนถึงขั้นแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อพ่อแม่เข้ามาห้ามหรือบังคับให้เลิกเล่นเกม นี่เป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะเป็นสัญญาณร้ายแรงแสดงให้เห็นได้ชัดว่าลูกติดเกมเสียแล้ว เพราะลูกไม่สามารถหักห้ามใจและควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ถึงขั้นทำให้เขาเลือกที่จะทำร้ายร่างกายคนอื่นเพื่อให้ตัวเองสามารถเล่นเกมได้ต่อไป
- มีผลกระทบด้านสุขภาพ
เมื่อลูกเล่นเกมเป็นเวลานานจนไม่สามารถเลิกเล่นหรือหยุดพักได้ บางครั้งนานจนไม่มีเวลาทานข้าว เข้าห้องน้ำ หรือแม้กระทั่งเวลานอน แน่นอนว่าผลเสียที่เกิดขึ้นลูกจะมีสุขภาพร่างกายที่แย่ลง นอกจากจะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ยังส่งผลไปถึงการละเลยหน้าที่ที่สำคัญเช่น การไปโรงเรียน ส่งผลให้ผลการเรียนแย่ลง และมีสัมพันธภาพกับเพื่อนและคนรอบข้างน้อยลงอีกด้วย เพราะพฤติกรรมของเขาจะเปลี่ยนไป จากที่เคยชอบเข้าสังคม เล่นหรือพูดคุยกับเพื่อน ๆ ลูกจะเริ่มเก็บตัวเงียบ ไม่อยากสุงสิงกับใครแม้แต่คนในครอบครัว เพราะสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือ เกม นั่นเอง
- พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
ลูกเริ่มเก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่อยากคุยกับพ่อแม่ แสดงความดื้อรั้นหรือต่อต้านเมื่อถูกห้ามหรือหยุดเล่นเกม บางครั้งอาจถึงขั้นแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย หงุดหงิด พูดคำหยาบ หรือมากจนกระทั่งมีการโกหกหรือลักขโมยเงินเพื่อแอบไปเล่นเกมที่อื่น เพราะเกมกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของลูกไปแล้ว หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ลูกติดเกมไปแล้วนั่นเอง ทำให้พฤติกรรมเดิม ๆ การใช้ชีวิตเดิม ๆ ของลูกเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด
ไม่อยากให้ ลูกติดเกม ทำอย่างไรดี?
วิธีการป้องกันและแก้ไขก่อน ลูกติดเกม
- การหักดิบ ส่งผลเสียมากกว่าดี
พ่อแม่หลายคนไม่รู้จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไรเพราะลูกติดเกมเอามาก ๆ จึงหันมาใช้วิธีการหักดิบโดยการให้ลูกเลิกเล่นเกมทันที ไม่ว่าจะเป็นการปิดจอ หรือ ดึงปลั๊ก วิธีนี้จะทำให้ลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่อีกต่อไป ทั้งยังจะต่อต้าน ดื้อ และแสดงอารมณ์รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นวิธีการแบบหักดิบนี้ผู้ปกครองจึงไม่ควรนำไปใช้เพราะผลที่ได้จะออกมาในทางที่ไม่ดีเท่าใดนัก แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไปเพราะเรามีคำแนะนำและวิธีเหมาะสมกว่าดังต่อไปนี้ค่ะ
- ไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือ มือถือ ในห้องนอน
ห้องนอนที่ดีควรมีสภาพที่เหมาะและเอื้ออำนวยต่อการนอนหลับพักผ่อนให้มากที่สุด ดังนั้นหากมีคอมพิวเตอร์หรือมือถือในห้องนอน จะทำให้มีสิ่งเร้าคอยดึงดูดใจจนอาจทำให้ลูกแอบเล่นเกมในตอนกลางคืนได้ เราแนะนำให้ย้ายคอมพิวเตอร์ของลูกไปอยู่ในพื้นที่ส่วนรวมเช่น ห้องนั่งเล่น เพื่อจะได้อยู่ในสายตาและภายใต้การควบคุมของพ่อแม่ ทั้งนี้นอกจากจะสร้างบรรยากาศให้ห้องนอนมีสภาพที่เหมาะสมต่อการหลับพักผ่อนแล้ว พ่อแม่ก็ควรใช้เวลากับลูกก่อนนอน เช่น พูดคุยหรือเล่านิทาน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก และยังทำให้ลูกมีเวลาสนใจเกมน้อยลงอีกด้วย
- ชวนลูกเล่นเกมพัฒนาสมอง
ปัจจุบันมีเกมเสริมทักษะสมองมากมาย ทั้งบอร์ดเกม เกมกระดาน และเกมออนไลน์ พ่อแม่อาจลองหาเกมที่ช่วยเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ของลูก เช่น เกมคิดคำนวณ เกมภาษาอังกฤษ เกมจับคู่ เกมจับผิดภาพ เกมต่อตัวต่อ ฯลฯ ทั้งนี้พ่อแม่ควรจะมีเวลาอยู่เล่นกับลูกเพื่อให้ลูกรู้สึกสนุกไปกับการเล่นเกม เพราะนอกจากความสนุกสนานและทักษะที่ลูกได้พัฒนาแล้วนั้น ลูกยังได้ใช้เวลาร่วมกับพ่อแม่และได้รับรู้ถึงความรักและความอบอุ่นจากครอบครัวอีกด้วย
- สร้างระเบียบวินัย ให้กำหนดเวลาเล่น
หากพ่อแม่ต้องการให้ลูกมีระเบียบวินัย วิธีง่าย ๆ ที่สามารถช่วยได้คือ การกำหนดเวลาการเล่นเกม นอกจากจะช่วยให้ลูกใช้เวลากับเกมน้อยลงแล้ว ยังช่วยสร้างระเบียบวินัยให้กับลูกด้วย เพราะการกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอนั้นจะสร้างวินัยให้ลูกรู้จักการรักษาเวลาอย่างเป็นธรรมชาติ โดยวิธีการคือพ่อแม่ต้องสร้างเงื่อนไขและข้อตกลงกับลูกและรักษากฎอย่างเคร่งครัด เช่น จะอนุญาตให้เล่นเกมได้เมื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จ เช่น หลังทำการบ้าน หรือหลังอ่านหนังสือเสร็จ และกำหนดเวลาเล่นเกมไม่ให้ลูกเล่นนานเกินไป โดยประมาณ 1-2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ทั้งนี้พ่อแม่ควรตั้งนาฬิกาเรือนใหญ่ไว้ใกล้ ๆ คอมพิวเตอร์ เพื่อให้ลูกเห็นเวลาได้อย่างชัดเจน และตระหนักรู้ได้ด้วยตัวเองว่าควรจะหยุดเล่นตอนไหน
- ให้คำชมหรือรางวัล เมื่อลูกทำได้ดี
ทุกครั้งที่ลูกสามารถรักษาข้อกำหนดหรือข้อตกลงที่ให้กับพ่อแม่ได้ พ่อแม่ควรให้คำชมเชยเพื่อให้ลูกมีความมั่นใจและภาคภูมิใจในตัวเอง เช่น ลูกสามารถหยุดเล่นเกมในเวลาที่กำหนดได้ ควรชมเชย
“วันนี้ลูกทำดีมากเลยนะ มีวินัย ทำตามข้อตกลงของเรา”
“เยี่ยมมากเลยลูก ลูกโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นแล้วนะ”
หรือหากวันไหนลูกสามารถห้ามใจไม่เล่นเกมเลย พ่อแม่อาจให้รางวัล เพื่อให้ลูกเห็นว่า นี่คือสิ่งที่ดีและควรทำต่อไป โดยพ่อแม่อาจให้รางวัลโดยการทำอาหารที่ลูกชอบ ออกไปเที่ยวด้วยกันในวันหยุดที่จะถึง หรือการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ปั่นจักรยาน เดินเล่น เตะฟุตบอล เพื่อให้ลูกมีเวลาสนใจเกมน้อยลงและมีเวลาร่วมกับครอบครัวมากขึ้น
จากคำแนะนำข้างต้นจะเห็นได้ว่า
การใช้เวลากับครอบครัว คือ ยาวิเศษ
ที่จะช่วยป้องกันให้ลูก ไม่เป็นเด็กติดเกม
ดังนั้น การมีเวลาให้ลูกคือสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย พ่อแม่อาจหาเวลาว่างช่วงสั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงตื่นนอนหรือก่อนนอนในการใช้เวลากับลูก เช่น พูดคุย อ่านหนังสือ หรือเล่นกับลูก
หากมีเวลาว่างในวันหยุดก็พาลูกออกไปหากิจกรรมทำร่วมกัน นอกจากจะทำให้ลูกสนใจเกมน้อยลงแล้ว ยังช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีมากขึ้นอีกด้วย
ที่ BrainFit เราเล็งเห็นถึงปัญหานี้ที่คุณพ่อคุณแม่กำลังกังวล หากคุณกำลังมองหาเกมที่ช่วยฝึกสมอง ฝึกสมาธิ ไปพร้อมกับการฝึกทักษะภาษาอังกฤษให้กับลูก BrainFit ขอแนะนำ โปรแกรม Fast ForWord ที่ได้รับการออกแบบจากนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลกมาแล้วว่า มีประสิทธิภาพในการช่วยพัฒนาสมอง ฝึกสมาธิ และทักษะภาษาอังกฤษในรูปแบบเกมได้อย่างสมบูรณ์แบบ
อย่ารอช้า! มาพัฒนาสมอง พร้อมกับพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษไปกับเรา
ที่ BrainFit Studio
BrainFit รับสมัครน้องๆ อายุตั้งแต่ 3-18 ปี
รับคำปรึกษาจากเรา ได้แล้ววันนี้ ฟรี!
โทร 02-656-9938 / 02-656-9939 / 02-656-9915 / 091-774-3769
LINE: @brainfit_th