สื่อสาร อย่างไร เสริมสร้าง Growth Mindset
การ สื่อสาร ในยุคปัจจุบันเป็นเหมือนสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารทางเดียว (One-Way Communication) หรือการสื่อสาร
สองทาง (Two-Way Communication) รวมไปถึงเทคโนโลยีที่เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในการเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ของน้อง ๆ ทำให้น้องอาจ
จะได้รับการสื่อสารทางเดียวเป็นส่วนใหญ่
ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ น้องมีเวลากับหน้าจอมากเกินไป ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เพื่อน หรือแม้กระทั่งกับพ่อแม่ ซึ่งลักษณะที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่กังวล คือ น้องมีอารมณ์รุนแรง ไม่ฟัง ไม่สามารถอดทนรอคอยได้ หรืออาจจะมองตัวเองในแง่ลบ เป็นต้น
ทาง BrainFit ตระหนักเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงสร้างบทความนี้ขึ้นมา เพื่อเสนอในอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเสริมสร้าง Growth Mindset ผ่านการสื่อสารอย่างเหมาะสม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ๆ ในแต่ละช่วงวัย
การสื่อสารที่ดี เป็นอย่างไรกันนะ!?
การสื่อสารที่ดีไม่ใช่แค่การใช้คำพูดเพียงอย่างเดียว ยังรวมไปถึงการแสดงออกทางท่าทาง สีหน้า ความรู้สึกต่าง ๆ ด้วยเช่นกันค่ะ
ตัวอย่างเช่น
น้องได้รับเลือกเป็นตัวแทนทำกิจกรรมในงานโรงเรียน น้องไม่ค่อยมีความมั่นใจเพราะเป็นเรื่องที่คิดว่าตัวเองไม่ถนัด
คุณพ่อคุณแม่จะให้กำลังใจน้องหรือสื่อสารให้น้องมีความมั่นใจมากขึ้นอย่างไรดีคะ
บางครอบครัวอาจจะเป็นเรื่องง่ายมากเลยในการชื่นชม ให้กำลังใจ สร้างแรงเสริมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกรัก แต่บางครอบครัวก็เป็นเรื่องยากสำหรับการเลือกใช้การสื่อสารที่เหมาะสมเช่นกันค่ะ
จากตัวอย่างดังกล่าว วิธีเสริมความมั่นใจและเสริมสร้าง Growth Mindset ให้กับน้อง ๆ ทำได้ดังนี้
1. เริ่มต้นจากการพูดคุย การให้พื้นที่ในการเล่าเรื่อง
ตอนนั้นน้องมีทั้งความกังวลใจ ความไม่มั่นใจ มีอารมณ์ต่าง ๆ มากมาย ผู้ปกครองสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้น้องเล่าหรือระบายออกมาก่อน เมื่อน้องมีพื้นที่เล่าเรื่องแล้ว เราก็ตั้งใจฟังและการรับฟังจะเป็นการฟังแบบเข้าใจ อย่าเพิ่งตัดสินความรู้สึกของน้องนะคะ
- เรื่องการแสดงสีหน้าและท่าทาง การมองตา (eye contact) เป็นเรื่องสำคัญมาก การจดจ่อกับเรื่องที่น้องเล่าจะค่อย ๆ ทำลายกำแพงอารมณ์ที่เกิดขึ้น และทำให้เราเข้าใจน้องได้มากขึ้น
2. สะท้อนอารมณ์ของน้อง
“แม่เข้าใจว่าหนูรู้สึกไม่มั่นใจใช่ไหมคะ แม่มั่นใจว่าเราทำได้นะคะ ลองโชว์ให้แม่ดูก่อนได้นะ”
เมื่อน้องแสดงให้ดูแล้ว อย่าลืมให้คำชม ชมที่น้องสามารถทำได้ดี และเพิ่มเติมในสิ่งที่คิดว่าน้องจะสนุกมากขึ้นได้เช่นกัน
3. การรักษาสัญญาเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก
เมื่อเรามั่นใจว่าน้องจะทำได้ การให้กำลังใจ การให้แรงเสริม จะช่วยให้น้องมีกำลังใจเพิ่มขึ้น
เทคนิคสื่อสารเพื่อเสริมสร้าง Growth Mindset
1. สื่อสาร โดยการ ชม ที่ “ความพยายาม”
การสร้างกรอบความคิดที่เติบโตสำหรับเด็ก ๆ สามารถสร้างได้จากการชม ชมที่ความพยายามในการทำสิ่งต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น น้องสอบผ่านวิชาคณิตศาสตร์ คำชมแรกที่อาจจะได้ยินกันบ่อยครั้ง คือ เก่งมากเลย สามารถชมได้เหมือนกัน แต่ว่าอาจจะยังไม่ได้เปิดกรอบความคิดของน้องมากนัก เพราะหากชมแค่ที่ความเก่ง ต่อไปข้างหน้าถ้าน้องทำไม่ได้ ก็จะรู้สึกว่าไม่เก่ง ไม่อยากทำ ท้อง่าย ซึ่งเรียกได้ว่า Fixed Mindset
- ควรชมอย่างไรให้เห็นถึงความพยายาม
“หนูทำคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ได้ดีมากเลย แสดงว่าหนูอ่านหนังสือและทบทวนบทเรียนอย่างหนักเลยใช่ไหมคะ ความพยายามของหนูได้ผลเยี่ยมมากเลย”
2. สื่อสาร โดยการคิดว่า “ปัญหา คือ ความท้าทาย”
ไม่ว่าจะเข้าสู่ช่วงวัยใด เราก็จะได้พบเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ปัญหาต่าง ๆ ที่ตามมา ซึ่งเมื่อเจอปัญหาต่าง ๆ ผู้ปกครองคงเป็นห่วง ห้ามไม่ให้ทำ หรือปฏิเสธที่จะเผชิญปัญหา ซึ่งส่งผลให้น้องเกิด Fixed Mindset ไม่กล้าเผชิญกับปัญหา
- ควรสื่อสารอย่างไรเพื่อให้น้องแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง
“ลองดูนะคะ ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร แม่เชื่อว่าหากน้องรู้สาเหตุแล้วน้องจะผ่านไปได้ ปัญหาคือความท้าทาย ถ้าน้องผ่านไปได้ น้องเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์แก้ไขปัญหาได้ดีมากเลยค่ะ”
3. สื่อสาร โดยการชวนคิด "ค้นหา แทน เปรียบเทียบ"
“ลองดูเด็กคนนั้นสิ เขายังทำได้เลย ทำไมหนูทำไม่ได้บ้าง” ประโยคที่หลายคนอาจจะเผลอพูดออกมา โดยเราอาจคิดว่าการเปรียบเทียบจะช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กได้พัฒนาต่อ แต่จริง ๆ แล้วคำพูดเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่ทำให้น้องรู้สึกไม่ดี ไม่เก่งเหมือนคนอื่น และยิ่งตอกย้ำให้น้องมีกรอบคิดแบบ Fixed Mindset และทำให้น้องให้ความสำคัญไปที่ความเก่งมากกว่าความพยายาม
- สื่อสารโดยการชวนคิดอย่างไรให้ไม่เปรียบเทียบ
ปรับคำพูดจาก “เปรียบเทียบ” เป็น “ค้นหา” การตั้งคำถาม การวิเคราะห์ถึงความสำเร็จที่คนรอบตัวสามารถทำได้ เช่น เพราะอะไรเพื่อนถึงสอบผ่านวิชานี้ เพราะอะไรคุณลุงถึงร่างกายแข็งแรง ซึ่งจะช่วยฝึกให้เด็กมองสิ่งแวดล้อมรอบข้างมากขึ้น และช่วยให้เด็ก ๆ มองไปที่กระบวนการหรือความพยายาม มากกว่าผลลัพธ์หรือความเก่ง
4. สื่อสาร โดยการ ให้กำลังใจ “The power of yet”
เมื่อเด็ก ๆ ผิดหวังหรือล้มเหลว แล้วเราพูดย้ำว่า “หนูทำไม่ได้” หรือ “หนูไม่เก่ง” จะเป็นการสร้าง Fixed mindset ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่า “โอเค งั้นเราทำไม่ได้ ก็ไม่ทำต่อละกัน” หรือ “ก็เราไม่เก่งเรื่องนี้ งั้นเลิกทำแล้วกัน” แต่ถ้าเราอยากจะเสริม Growth Mindset เราแค่เติมคำว่า “ยัง” เข้าไป เปลี่ยนจาก “ทำไม่ได้” เป็น “ยังทำไม่ได้” ซึ่งจะช่วยน้องรู้สึกว่าตอนนี้เรายังทำไม่ได้ ครั้งหน้าเราก็ทำได้แน่นอน จากการฝึกฝน จากการทำซ้ำ ๆ เป็นต้น
การ สื่อสาร เป็นหัวใจสำคัญทั้งในเรื่องการให้กำลังใจ การส่งเสริม Growth Mindset ให้กับเด็กรุ่นใหม่ การส่งเสริมพัฒนาการผ่านการ
สื่อสารได้อย่างถูกวิธี และยังรวมไปถึงการฝึกฝนทักษะทางสมองทั้ง 5 ด้านที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะทั้งในเรื่องการสื่อสาร การมี Growth
Mindset และการฝึกจัดการอารมณ์ ผ่านกิจกรรม Whole Brain Training เพื่อฝึกฝนทักษะพื้นฐานเตรียมความพร้อมก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่
ที่ดีได้เช่นกัน
BrainFit เชื่อว่าทั้งในเรื่องการสื่อสาร การเสริมสร้าง Growth Mindset ทุกอย่างต้องมีการฝึกฝนที่เหมาะสมและเทคนิคต่าง ๆ ที่ทางเรามี
พร้อมช่วยพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี
สนใจติดต่อที่นี่ได้เลยค่ะ 😊
จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ และ อาทิตย์
02-656-9938 / 02-656-9939 / 02-656-9915
วันพฤหัสบดี-วันศุกร์ 091-774-3769