เสริมพัฒนาการลูกน้อย ผ่านการเล่นอย่างถูกวิธี!?
โลกปัจจุบันที่หมุนไปอย่างรวดเร็วกำลังทำให้กิจกรรม การเล่น ของเด็กถูกจำกัด ส่งผลให้เวลาว่างเพื่อเล่นของเด็ก ๆ
น้อยลง และที่น่าเศร้ายิ่งไปกว่านั้นก็คือ เด็ก ๆ มักจะใช้เวลาว่างไปกับการเล่นผ่านหน้าจอเป็นส่วนใหญ่
เราจึงชวนผู้ปกครองมาทำความรู้จักกับ การเล่นแบบอิสระ หรือ Free Play กันค่ะ
การเล่น มีหลายรูปแบบ และมีหลายทฤษฎีที่เกี่ยวกับการเล่น เราจึงขอยกทฤษฎีที่เกี่ยวข้องมา 2 ทฤษฎี ดังนี้
1. ทฤษฎีของ Vygotsky (1976)
เชื่อว่า การเล่น มีบทบาทโดยตรงต่อพัฒนาการทางสติปัญญา โดยเด็กจะเรียนรู้แบบองค์รวม คือยังมองทุกอย่างเป็นภาพเดียวกันไม่มีการแบ่งส่วนใดใด นอกจากนี้ทางทฤษฎียังมองว่า การเล่นเป็นเหมือนแว่นขยาย เพื่อช่วยเปิดศักยภาพของเด็ก ดังนั้น การเล่นจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมพัฒนาการของเด็กในทุกด้านไปพร้อมกัน
2. ทฤษฎีของ Bruner (1972)
กล่าวว่า การเล่น ช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างเล่นมีความหมายต่อเด็กมากกว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการเล่น เช่น เมื่อเด็กกำลังเล่น เด็กจะไม่กังวลถึงจุดมุ่งหมายที่จะทำสำเร็จ และไม่รู้สึกกดดันในการที่จะทำให้สำเร็จ แต่เด็กจะสามารถเชื่อมโยงพฤติกรรมของการเล่นมาใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริงได้
การเล่นแบบอิสระ หรือ Free Play คืออะไร!?
การเล่นแบบอิสระ หรือ Free Play คือ การเล่น ที่ให้เด็กเป็นคนคิดเอง ออกแบบเอง และกำหนดด้วยตัวเองว่าอยากเล่นอะไร ผู้ปกครองเล่นไปตามกติกาและความสนใจของเด็ก โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก หรือเราสามารถสร้างพื้นที่ให้เด็กได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ในการเล่นได้อย่างเต็มที่
จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกนปี 1997 ชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 1981 เด็กอเมริกันมีเวลาว่างในการเล่นลดลง 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งข้อสรุปคล้ายกับงานวิจัยของ ปีเตอร์ เกรย์ (Peter Grey) จากมหาวิทยาลัยบอสตันที่กล่าวว่า เวลาว่างสำหรับการเล่นของเด็ก ๆ จะลดลงอย่างต่อเนื่อง
การเล่นอย่างอิสระจึงสำคัญต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสติปัญญาของเด็ก โดยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลราโดพบว่า เด็กอายุตั้งแต่ 6 - 7 ปี ที่เล่นกิจกรรมในลักษณะที่สามารถสะท้อนแนวคิดสร้างสรรค์ หรือคิดวิเคราะห์ เช่น การเล่นบทบาทสมมติ การอ่านหนังสือเพื่อความเพลิดเพลิน หรือการเล่นบอร์ดเกม เมื่อโตขึ้นพวกเขาจะสามารถพึ่งพาตัวเองและประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าเด็กอีกกลุ่ม ที่ไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมในลักษณะเช่นนั้น เนื่องจากพวกเขามีความเป็นผู้นำมากกว่า สามารถจัดการเวลาของตัวเองได้ รวมถึงรู้เป้าหมายอนาคตข้างหน้า
แล้วเล่นอย่างไร ถึงจะเรียกว่า การเล่นแบบอิสระ หรือ Free Play!?
การเล่นอิสระอาจจะเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ที่เด็กอยากรู้อยากลอง ซึ่งเริ่มได้ตั้งแต่เด็กทารก
ช่วงวัยทารก (0 - 1 ปี)
วัยนี้เป็นวัยที่เริ่มสร้างความเชื่อใจต่อโลกและผู้เลี้ยงดู ซึ่งสิ่งแรกที่เด็กจะเจอเมื่อลืมตาดูโลก คือ ผู้ปกครอง หรือพ่อแม่นั่นเอง ดังนั้น พ่อแม่ก็เป็นของเล่นชิ้นแรกของลูก ๆ เช่น การเล่นจ๊ะเอ๋ การยิ้มให้ลูก การเล่นปูไต่ เพื่อให้ลูกยิ้ม หรือ หัวเราะ เป็นต้น และการกระทำเหล่านี้ก็เรียกได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของพัฒนาการทางด้านสังคม อารมณ์ และสติปัญญาของลูกน้อย
อีกสิ่งสำคัญที่อยากแนะนำ คือ การเล่านิทาน ซึ่งถือว่าเป็นการเล่นอิสระอีกหนึ่งรูปแบบที่มีผู้ปกครองเป็นผู้นำ คอยอ่านให้ฟัง หรือเล่าเรื่องราวให้ลูกได้ฟัง สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ช่วง 4 - 6 เดือน เด็กเริ่มมีความสนใจสิ่งรอบข้างมากขึ้น ซึ่งยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่ด้านอารมณ์สังคม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กในการหยิบ เปิดหนังสือ ไปจนถึงด้านภาษาที่จะพัฒนามากในช่วงวัย 1 - 2 ปี เป็นต้นไป เริ่มจากหนังสือภาพ รูปเยอะ ๆ ใช้เวลาสั้น ๆ เช่น ก่อนเข้านอนเป็นกิจวัตรทุกวัน
ช่วงวัยเตาะแตะ (2 - 3 ปี)
ในวัยนี้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ และกล้ามเนื้อมัดเล็กจะเริ่มพัฒนามากขึ้น เด็ก ๆ จะเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น มีการเล่นและใช้จินตนาการของตัวเองเป็นหลัก พ่อแม่อาจจะเคยเห็นลูกน้อยพูดคุยกับตุ๊กตา ป้อนข้าวตุ๊กตา และเริ่มอยากรู้อยากลอง เริ่มปีนป่ายไปทั่ว เรียกได้ว่าเป็นวัยกำลังซนเลยค่ะ
แล้วเราจะเสริมการเล่นส่วนนี้ยังไงดีนะ
ไม่ยากเลยค่ะ หากลูกสนใจเล่นอะไร ให้พ่อแม่เล่นไปด้วยกัน เล่นใหญ่ไว้ก่อน เพื่อเสริมทักษะพื้นฐานกับลูก ๆ เช่น เล่นร้องเพลง เคลื่อนไหวตามจังหวะเพลง กระโดดไปพร้อมกัน และชวนกันทำ กิจวัตรประจำวัน เช่น ล้างจาน จัดอาหาร หรือการเล่นบทบาทสมมติง่าย ๆ เป็นต้น เพื่อฝึกให้เด็กมีความมั่นใจและภูมิใจว่าเราทำได้มากขึ้น
ช่วงวัยอนุบาล (3 - 5 ปี)
วัยนี้เป็นวัยที่สามารถเล่นได้หลายรูปแบบตามช่วงพัฒนาการของเด็กแต่ละคน มีทั้งเล่นเป็นกลุ่ม และ เล่นเดี่ยว การเล่นจะเป็นเล่นแบบอิสระมากยิ่งขึ้น เล่นตามความสนใจ จินตนาการ เช่น ชวนลูกประดิษฐ์ของเล่นเอง ขีดเขียน วาดรูป ระบายสี ปั้นแป้ง ต่อบล็อกไม้ พับกระดาษ มีการเล่นบทบาทสมมติ เล่นขายของ และให้มีการเล่นกลางแจ้ง ในสนามเด็กเล่นที่ปลอดภัย วิ่ง กระโดด ปีนป่าย ขี่จักรยาน เต้น ร้องเพลง และในวัยนี้เริ่มเล่นกับเพื่อนได้สนุกขึ้น เช่น เล่นสมมติแบบมีธีม มีตัวละครเจ้าหญิงเจ้าชาย ครูนักเรียน เป็นต้น
ไม่ได้เพียงแค่ความสนุกสนานในการเล่นเท่านั้น แต่การเล่นอิสระยังช่วยเสริมสร้างทักษะทางด้านสื่อสาร สังคม อารมณ์
รวมไปถึงพื้นฐานการคิดแก้ไขปัญหา การนำเสนอไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ของเด็ก ๆ ได้อีกด้วย
ช่วงวัยประถม (6 - 12 ปี)
วัยนี้เป็นวัยที่เด็ก ๆ เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ มากขึ้น มีสังคมเพิ่มเติมจากที่บ้าน อาจจะมีความเครียดและความกังวล ดังนั้น การเล่นอิสระจึงยังมีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการในช่วงวัยนี้อย่างมากเช่นกัน และในวัยนี้จะมีการเล่นที่ซับซ้อนขึ้น มีกติกา ข้อกำหนด และการแบ่งฝ่ายในการเล่นมากขึ้น เด็ก ๆ จะได้ทักษะต่าง ๆ ผ่านการเล่น ทั้งในเรื่องของการเล่นกับเพื่อน การเข้าสังคม การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ได้ผ่านการเล่น ซึ่งเป็นการเสริมสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่ต่อไป
อ้างอิงจากทฤษฎีของ Vygotsky และ Bruner ที่กล่าวไว้ข้างต้น
การเล่น จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยสร้างเสริมพัฒนาการที่ดีให้กับเด็ก ๆ
ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา
และการเล่นยังคงสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้อีกด้วย
BrainFit ยังเชื่ออีกว่า หากเด็กได้เล่นอย่างมีอิสระ ในพื้นที่ที่ปลอดภัย เด็ก ๆ จะมีพื้นฐานในการใช้ชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น และหากเด็ก ๆ ได้รับการฝึกพัฒนาทักษะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านการมอง การฟัง การเคลื่อนไหว การจดจ่อและการมีสมาธิ จะส่งเสริมให้เด็กมีความมั่นใจ กล้าแสดงออกและรวมไปถึงการมี mindset ที่ดีอีกด้วยค่ะ
หากผู้ปกครองสนใจฝึกทักษะต่าง ๆ ให้กับลูกรัก ทางเราก็มีหลากหลายโปรแกรมการฝึกที่เห็นผลได้จริง และมีงานวิจัยรองรับเพื่อช่วยเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ให้กับลูก เพื่อให้ลูกได้ออกไปสู่โลกกว้างใหญ่อย่างแข็งแรง
สนใจติดต่อได้ที่นี่เลยค่ะ
จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ และ อาทิตย์
02-656-9938 / 02-656-9939 / 02-656-9915
วันพฤหัสบดี-วันศุกร์ 091-774-3769