เทรนด์การศึกษาปี 2021
จากสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบรูปแบบการเรียนสอนของหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบในการให้การศึกษา การออกแบบห้องเรียน และการจัดการเรียนการสอนที่ไม่อาจเป็นรูปแบบเดิมได้อีกต่อไป เรามาดู เทรนด์การศึกษาปี 2021 ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง มาดูกัน
1. สุขภาพทางด้านสังคมและอารมณ์
การเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ที่บ้านล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้งคุณครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง ส่งผลต่อระดับความเครียดให้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามในปี 2021 ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจมากขึ้น นั่นก็คือ เทรนด์สุขภาพทางด้านสังคมและอารมณ์
Noel Candelaria ประธานสมาคมครูแห่งรัฐเท็กซัส ได้เปรียบเทียบเรื่องของการดูแลตนเองระหว่างนักการศึกษากับผู้โดยสารที่เดินทางโดยสายการบิน เสมือนกับสถานการณ์ที่ว่า “หากตัวเราอยู่บนเครื่องบิน และเครื่องกำลังขาดอากาศหายใจ เราก็ควรช่วยเหลือตนเองให้ได้รับหน้ากากออกซิเจนก่อน แล้วจากนั้นค่อยไปช่วยเหลือให้ผู้อื่นใส่หน้ากากในยามฉุกเฉิน”
เช่นเดียวกับความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคมและอารมณ์ของนักเรียนก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเช่นกัน โดยทั่วไป เด็ก ๆ มักมีความยืดหยุ่นทางความคิด แต่หากความเครียดเกิดขึ้นกับเด็ก อาจจะส่งผลต่อการเรียนรู้ การจดจ่อ ความจำ การสร้างสมาธิ และการเรียนรู้โดยรวมต่อตัวเด็กได้
“เมื่อฉันอยู่ในห้องเรียน ฉันจะเริ่มต้นเช้าวันใหม่ โดยมักจะให้นักเรียนแชร์และถ่ายทอดความรู้สึกของตนเอง โดยเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาว่าเป็นอย่างไรบ้าง เล่าเรื่องที่เกิดขึ้น หรือมีอะไรที่ทำแล้วรู้สึกว่ายังมีบางอย่างที่พวกเขายังทำได้ไม่ดี การพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน วิธีนี้มันจะช่วยให้เด็ก ๆ ได้ผ่อนคลายความกังวล บรรเทาทุกข์ และเริ่มต้นเช้าวันใหม่ต่อไปอย่างสดใส”
ในช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ทางสังคม และอารมณ์เหล่านี้ มันคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป เพราะนอกจากจะเป็นการเริ่มต้นวันใหม่ที่ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยป้องกันความเครียดที่อาจจะประทุขึ้นในภายหลังได้ เพราะฉะนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรเริ่มตระหนักและหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพจิตและอารมณ์ของเด็กอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการเรียนและการใช้ชีวิตอย่างมาก
2. ยุคของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI)
ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเป็นประเด็นร้อนเพราะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางการศึกษา เทคโนโลยี AI จะช่วยรวบรวมข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการสอนและเร่งพัฒนาการของผู้เรียนโดยปรับให้เข้ากับความต้องการของนักเรียนแต่ละคน
ยกตัวอย่าง โปรแกรมที่มีเทคโนโลยีของ AI ที่ปรับความยากง่ายให้เข้ากับผู้เรียน เช่น โปรแกรม ฝึกทักษะสมองและภาษาอังกฤษ Fast ForWord ที่ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกร่วมกันในชั้นเรียน เทคโนโลยีสามารถวิเคราะห์ และปรับความยากง่ายให้เข้ากับผู้เรียนแบบรายบุคคล ทำให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณครูที่จะติดตามรายงานความก้าวหน้า หรือเข้าช่วยเหลือนักเรียนได้ทันที
เทคโนโลยี AI ยังช่วยให้ครูสามารถทำงานได้อย่างลื่นไหล สามารถนำข้อมูลมาใช้ได้แบบอัตโนมัติ เช่น การตรวจคำตอบข้อสอบแบบอัตโนมัติ เทคโนโลยี AI ยังสามารถออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการให้ข้อเสนอแนะและติดตามความคืบหน้าให้นักเรียนสำหรับการเรียนการสอนแบบเรียลไทม์ได้อีกด้วย
3. ระบบการเรียนการสอนแบบไฮบริด Hybrid Learning
การเรียนรู้แบบ Hybrid Learning เริ่มมีบทบาทสำคัญอย่างมากในยุคปัจจุบันนี้ เพื่อให้เข้ากับนโยบายทางการสาธารณสุข เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงและจะต่อเนื่องไปอีกในปี 2021
แล้วการเรียนรู้แบบไฮบริดคืออะไร? ระบบการเรียนการสอนแบบไฮบริด (Hybrid) คือ นวัตกรรมการศึกษาที่ผสานโมดูล (Module) การเรียนการสอนหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน เช่น การใช้ระบบเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านรูปแบบออนไลน์ หรือ อีเลิร์นนิ่ง (E-Learning) เข้ากับการเข้าชั้นเรียน โดยเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive) และตรงกับวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ และสัมฤทธิ์ผลยิ่งขึ้น ซึ่งแนวทางการคิดของรูปแบบการเรียนแบบนี้ เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้รับการฝึกฝนหรือปฎิบัติอย่างกว้างขวาง
ซึ่งการเรียนออนไลน์ไม่ได้เป็นเพียงแค่การให้คำสั่งหรือสอนได้โดยตรงเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยให้นักเรียนที่อยู่ห่างไกลได้สัมผัสถึงความรู้สึกของการมีส่วนร่วมในกลุ่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในสถาณการณ์ปัจจุบัน
การเรียนแบบไฮบริดนี้มักจะถูกสับสนกับการเรียนแบบผสมผสาน (Blended learning) เพราะมีลักษณะที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน แต่ความแตกต่างคือ ในแนวทางการจัดระบบการเรียนรู้แบบ Hybrid-Learning ที่เป็นนวัตกรรมการศึกษาที่ผสานโมดูล การเรียนการสอนหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน โดยการผสมผสานกันระหว่างการเรียนการสอนทางไกล (Distant Learning) ผ่านระบบเครือข่ายออนไลน์ ร่วมกับการเรียนแบบเผชิญหน้า (Face-to-Face Learning) ส่วนการจัดการเรียนรู้แบบ Blended Learning จะเป็นการจัดการการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการนั่งฟังคำบรรยายภายในชั้นเรียน โดยให้ความสำคัญในเรื่องของการเลือกใช้สื่อที่เหมาะสมและถูกต้องตามจุดประสงค์ของการเรียน และการบูรณาการ การจัดการเรียนรู้ที่มีความเหมาะสมกับการเรียนรู้ในลักษณะต่างๆ และตรงกับวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลยิ่งขึ้น
4. การเรียนรู้แบบสตีมศึกษา STEAM Curriculum
สตีม ศึกษา คือการเรียนรู้แบบองค์รวมที่ประกอบไปด้วย วิทยาศาสตร์ (Science), เทคโนโลยี (Technology), วิศวกรรม (Engineering), ศิลปะ (Arts) และ คณิตศาสตร์ (Math) ซึ่งแทนที่จะเป็นการเรียนแบบแยกรายวิชา การเรียนแบบสตีมศึกษาจะเป็นการรวบรวมทุกวิชาเข้าด้วยกัน นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ง่าย ๆ ผ่านสิ่งรอบ ๆ ตัวเราผ่านโปรเจคต่าง ๆ
การเรียนบูรณาการศิลปะไม่เพียง แต่ตอบสนองความสนใจของนักเรียนในวงกว้าง แต่ยังช่วยให้นักเรียนที่มีปัญหาหรือเรียนรู้ช้า สามารถเข้าใจเนื้อหาของ STEM ได้ดีขึ้น
การเรียนแบบสตีมศึกษาจะเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนมีความช่างสังเกต สามารถคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา เกิดความคิดสร้างสรรค์ และ การทำงานเป็นทีมได้ การเรียนรู้แบบนี้จะช่วยให้นักเรียนมีโอกาสได้พัฒนาทักษะรอบด้านผ่านการทำจริง ๆ สิ่งนี้ช่วยสร้างให้นักเรียนมีการพัฒนาตนเองแบบองค์รวมมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นทักษะและความรู้ที่จำเป็นสำหรับใช้ในสถานที่ทำงานในศตวรรษที่ 21 ด้วย
ในอนาคต ไม่ว่าเทรนด์การศึกษาไหน คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าลืมตามให้ทันนะคะ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่เด็ก ๆ ยังคงต้องเรียนรู้ต่อไปในโลกยุคดิจิตอล และจากสถานการณ์ที่คาดเดาได้ยากว่าจะไปในทิศทางไหนเช่นนี้ เราจะต้องมีความยืดหยุ่นสูงขึ้น ทั้งในด้าน สถานที่ ทั้งในเรื่องของเวลา วิชาที่เลือกเรียน ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ทั้งหมดนี้อาจเป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ซึ่งเราก็หวังว่า การเรียนรูปแบบใหม่ ๆ จะทำให้ข้อจำกัดต่าง ๆ หมดไป และจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ให้มากยิ่งขึ้น
? BrainFit พัฒนาสมอง สมาธิ และการเรียนรู้ ☀️
☎️ 02-656-9938 / 02-656-9939 / 02-656-9915
LINE: @brainfit_th
ที่มา: https://www.scilearn.com/2021-education-trends/