เลี้ยงลูกยุคใหม่ สร้างวินัย ไม่ใช้ความรุนแรง

เลี้ยงลูกยุคใหม่ ...สร้างวินัย ไร้ความรุนแรง 


จะว่าไปแล้ว การเลี้ยงดูลูกนั่นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยซักนิด คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงกำลังประสบปัญหานี้อยู่ บางท่านอาจตั้งคำถามกับตัวเองว่า” เอ้.. เราทำแบบนี้ ดีแล้วใช่มั้ย” แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านล้วนต้องการเลี้ยงให้ลูกเป็นเด็กดี เชื่อฟัง มีระเบียบวินัย แต่วิธีการที่เราจะสร้างนิสัยและวินัยเหล่านั้นให้ลูกล่ะ ต้องทำอย่างไร? 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัฒนธรรมของบ้านเรามีความเชื่อว่า การปลูกฝังให้ลูกเชื่อฟังพ่อแม่ได้นั้นจะทำให้ลูกเป็นเด็กดี โดยใช้วิธีการที่ตรงไปตรงมา โดยลืมคำนึงถึงเหตุและผล เช่น ขู่บังคับเมื่อลูกไม่เชื่อฟัง ใช้วิธีตีเมื่อลูกกระทำผิด ดุด่าเมื่อลูกเถียง ทั้งๆที่อาจเป็นการชี้แจงเหตุผลของเด็ก ซึ่งวิธีเหล่านี้ใช้ได้ผล แต่เป็นเพราะลูก “เกรงกลัว” ไม่ใช่เพราะ “เข้าใจ” 

สิ่งที่ตามมาคือ วิธีที่เราใช้บ่มเพาะพวกเขานี้แหละ จะวกกลับมาทำร้ายพวกเขาในภายหลัง เด็กๆหลายคน ใช้อารมณ์ในการแก้ไขปัญหา มีปมในใจ ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเพราะกลัวไม่เป็นที่ยอมรับ เก็บตัว ต่อต้าน หรือรู้สึกมีระยะห่างกับคุณพ่อคุณแม่ 

เพราะฉะนั้นวันนี้ เราจะมาพูดถึงอีกวิธีหนึ่งที่จะสร้างวินัยและปลูกฝังให้เขาเป็นเด็กดี โดยใช้ความรุนแรงทั้งการกระทำและคำพูดให้น้อยที่สุด เรียกว่า “การเลี้ยงลูกเชิงบวก”

 

 

1. ใช้ความสงบเมื่อเกิดอารมณ์โกรธ 

เมื่อลูกกระทำผิด มันเป็นเรื่องที่ยากหากจะรู้สึกไม่โกรธลูก คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจอย่างนี้ค่ะว่า การมีอารมณ์โกรธไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่อยู่ที่ว่าเราจะรับมือและนำเสนอลูกในวิธีไหน สิ่งที่ดีที่สุดคือการใช้ความสงบ เพราะอารมณ์โกรธอาจทำให้เราขาดสติจนพูดหรือทำในสิ่งที่ทำให้ลูกเจ็บปวดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การอยู่นิ่งๆ รอให้อารมณ์เย็นลงก่อน จะช่วยลดเหตุการณ์ตรงนั้น แน่นอนว่าเมื่อลูกเห็นเราเงียบไป เขารับรู้อยู่แล้วว่า คุณแม่คุณแม่กำลังไม่พอใจกับการกระทำของเขา เขาเองก็ได้ใช้ช่วงเวลานั้นในการทบทวนตัวเองเช่นกัน เมื่ออารมณ์เย็นแล้ว การอธิบายลูกและพูดคุยกันด้วยเหตุผลจะช่วยให้ทั้งเราและลูกรับฟังกันดีมากขึ้น

 

2. แยกแยะให้ได้ว่าลูก “เถียง” หรือ “อธิบาย” 

“เป็นเด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่” เพราะผู้ใหญ่ “อาบน้ำร้อนมาก่อน” เป็นเช่นนั้นจริงหรือ? หากคุณพ่อคุณแม่มีความคิดแบบนี้ อยากให้ลองเปิดใจสักนิดเพื่อหาเหตุและผลในสุภาษิตนี้ แน่นอนว่า ผู้ใหญ่ล้วนแต่ผ่านอะไรมามากมาย มีประสบการณ์ก่อน เติบโตก่อน พบเจอปัญหาและแก้ไขก่อน เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกที่เราอยากใช้ประสบการณ์ตรงนั้นสอนลูก ห้ามปรามลูก แต่สิ่งหนึ่งที่ห้ามลืมคือ โลกเปลี่ยนทุกวัน เวลาเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน การรับมือกับสังคมก็เปลี่ยน เพราะฉะนั้น ในยุคสมัยที่เราก้าวจากความเป็นเด็กสู่การเป็นพ่อแม่และต้องรับมือกับลูกในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การใช้ประสบการณ์ที่ตนเองเคยเจอเป็นตัวตัดสินอาจไม่ได้ผล 100% คุณพ่อคุณแม่ควรแยกให้ออกว่าสิ่งที่ลูกกำลังโต้ตอบนั้น เขากำลังต้องการอะไร หรือเขาอยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจเขาอย่างไร เมื่อตรองดูแล้ว สิ่งที่ลูกกำลังเสนอมีข้อเท็จจริงอยู่บ้าง เปลี่ยนการตอบโต้กลับด้วยอารมณ์เป็นการใจเย็น และสอนเขา เช่น “แม่พอจะเข้าใจสิ่งที่ลูกกำลังจะบอกนะ แต่ลองใจเย็นแล้วอธิบายแม่ดูใหม่อีกทีซิ” เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่า การแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน ไม่จำเป็นต้องใช้อารมณ์เพื่อให้อีกฝ่ายตอบรับความคิดเห็นนั้น 

เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่จะแยกแยะได้มากขึ้นเมื่อลูกแสดงความเห็นที่ขัดแย้งว่านี้เป็นการเถียงเพื่อเอาชนะหรือจริงๆแล้วเขาเพียงต้องการให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจเหตุผล และเด็กๆ เอง ก็จะได้เรียนรู้เช่นเดียวกัน

 

3. ไม้เรียว หรือจะสู้ ผลลัพธ์ที่ลูกต้องเจอ

เด็กๆ คนไหนก็กลัวไม้เรียวด้วยกันทั้งนั้น เพราะมันสร้างความเจ็บปวดและรอยแดงช้ำ เรียกว่าหากคุณพ่อคุณแม่ขู่ด้วยไม้เรียว ไม่ว่าใครก็ไม่กล้าดื้อ แต่นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วหรือ? 

การลงโทษลูกด้วยการตีให้หลาบจำก็เป็นกลยุทธ์เด็ดในการทำให้ลูกเชื่อฟังได้เร็วที่สุดก็ว่าได้ แต่ถ้าวิเคราะห์กันดูแล้ว เด็กๆ เชื่อฟังเราเพราะอะไรถ้าไม่ใช่ไม้เรียว ซึ่งนั่นแปลว่าผิดประเด็นโดยสิ้นเชิง เพราะสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังเขาคือ ให้เขาตระหนักถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา ยกตัวอย่างเช่น ลูกๆ แอบหนีไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนนอกบ้านโดยไม่ขออนุญาต เมื่อเราจับได้ เราลงโทษเขาด้วยไม้เรียว บอกเขาว่า “ถ้าทำอีก จะโดนตีแบบนี้อีก” เด็กๆ จะเข้าใจว่า ถ้าหนีเที่ยวโดยไม่บอก เขาจะโดนคุณพ่อคุณแม่ตีไปโดยสิ้นเชิง 

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำคือ อธิบายเหตุผลให้ลูกตระหนักถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมามากกว่าบทลงโทษ เช่น “ถ้าลูกออกไปแบบนี้ แล้วมีคนพาลูกไปจากพ่อกับแม่ ลูกจะทำอย่างไร หรือ ถ้าลูกไปเที่ยวเล่นแล้วเกิดอุบัติเหตุ พ่อแม่จะช่วยลูกได้อย่างไร” โดยพูดด้วยความจริงจัง แต่ไม่ใช้อารมณ์ ให้เขาเข้าใจว่านี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แน่นอนว่าบทลงโทษยังคงจำเป็นเพื่อให้หลาบจำขึ้นอยู่กับความเลวร้ายของสถานการณ์ แต่สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำคือ ให้ลูกกลัวผลลัพธ์มากกว่าไม้เรียว

 

 

4. กระตุ้นลูกด้วยกำลังใจ ไม่ใช่เปรียบเทียบ

พ่อแม่เปรียบเสมือนโลกทั้งใบของลูกๆ เพราะฉะนั้น ในทุกๆ ความสำเร็จของเขาไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ พวกเขาจึงมักจะนึกถึงพ่อแม่หรือผู้ปกครองเป็นอันดับต้นๆ เพราะอยากได้รับคำชื่นชมหรือการยอมรับ และหากลูกรักทำสิ่งใดผิดพลาด พยายามได้ไม่พอ หรืออาจพอ แต่ไม่สำเร็จ คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นที่พึ่งแรกของลูกๆ ที่จะคอยปลอบใจ และให้กำลังใจเขา ชื่นชมเขาที่ “ความพยายาม” ไม่ใช่ “ความสำเร็จ” และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ไม่ควรเปรียบเทียบเขากับใครๆ เช่น “ทำไมแค่นี้ถึงทำไม่ได้ เพื่อนเขายังทำได้เลย” ให้เปลี่ยนเป็น “แม่ / พ่อ รู้ว่าลูกพยายามเต็มที่แล้ว แม่/พ่อ ภูมิใจที่ได้เห็นความพยายามของลูก”

การกระตุ้นลูกด้วยกำลังใจเชิงบวก จะทำให้เขาเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ผลลัพธ์นั้นมันอาจไม่สำคัญเท่ากับความพยายามที่เราลงมือทำอย่างเต็มที่ เมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาจะกล้าทำ กล้าลุยทุกความท้าทายและโจทย์ปัญหาใหม่ๆ ลองคิดภาพดูซิว่า หากเราชื่นชมเขาที่ผลลัพธ์ และเอาผลลัพธ์ของเขามาเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ จะเป็นอย่างไร? แน่นอน พวกเขาจะไม่กล้าริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ เพราะกลัวความผิดพลาด และการไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้ลึกๆ ไม่มั่นใจในตัวเอง จะเลือกทำสิ่งที่ตัวเองถนัด และปิดกั้นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เมื่อเจอสิ่งใดที่ยากก็จะบ่ายเบี่ยงและไม่สนใจไปในที่สุด 

เป็นอย่างไรกันบ้างล่ะคะ สำหรับวิธีการสอนลูกในเชิงบวก หวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะได้ประโยชน์จากบทความนี้ และนำไปประยุกต์ใช้กับการเลี้ยงดูลูกรักในแบบฉบับของตัวเองกันนะคะ

 

 

BrainFit จัดสัมมนาเกี่ยวกับการพัฒนาสมอง และคอร์สระบบการฝึกของเรา อย่างสม่ำเสมอ

**ที่นั่งมีจำนวนจำกัด**  โปรดสำรองที่นั่งล่วงหน้าที่ 02-656-9938-9 / 02-656-9915 / 091-774-3769

หรือ LINE: @brainfit_th

หรือสามารถกรอกข้อมูลด้านล่าง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถทำการติดต่อได้ทันทีค่ะ

 

Contact Us

If you would like to have your child attend our course, or you would simply like more information, please contact us today.

BrainFit Studio Thailand 2nd floor, Ploenchit Center,
Sukhumvit Soi 2, Bangkok 10110BTS Ploenchit Station Exit 4