10 เทคนิคการพูดคุยกับลูกรักเกี่ยวกับ “อาการขาดสมาธิ”
วันนี้ลูกทำอะไรที่โรงเรียนบ้าง?
ผลสอบวิชาคณิตศาสตร์ของลูกเป็นยังไง?
บางครั้งการพูดคุยกับเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น เกี่ยวกับสิ่งใดก็ตามอาจทำให้คุณรู้สึกเหมือนเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับคุณ เพราะเด็กในวัยนี้จะมีพฤติกรรมที่ชอบถามคำตอบคำ มีการมองบน หรือแสดงสีหน้าท่าทางที่ไม่ดีตอบกลับเรามา และในบางครั้งก็พยายามที่จะปิดกั้นเราไม่ให้เข้าใจ หรือเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของเขามากนัก
มันอาจจะเป็นเรื่องยากมากในการที่จะพยายามเข้าใจว่าเด็กมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร แต่เราอยากให้คุณพยายามพูดคุยกับเด็ก และการพูดคุยในที่นี้จะต้องไม่ใช่แค่การพูดคุยกับเด็ก ๆ อย่างมีความหมาย หรือพูดคุยเกี่ยวกับอาการขาดสมาธิของเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยมาแล้วเท่านั้น เพราะจะทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมดังที่ได้กล่าวมาแล้วออกมาข้างต้น
ดังนั้นบทสนทนาควรจะแสดงออกถึงความห่วงใย ใส่ใจ และอยากที่จะช่วยเหลือให้เด็ก ๆ ก้าวข้ามผ่านอุปสรรค หรือความยากลำบากเหล่านั้นไปได้ เพื่อให้เด็ก ๆ รับรู้ว่าเราสามารถเข้าใจเขา และพร้อมอยู่เคียงข้างเขาจริง ๆ สิ่งนี้เองที่จะช่วยให้เราเข้าใจ และเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของเด็ก ๆ ได้ ส่งผลให้เราสามารถช่วยผลักดันและเป็นกำลังหนึ่งให้เด็กสามารถก้าวข้ามผ่านกับสิ่งที่ต้องเผชิญอยู่ได้อย่างแท้จริงนั้นเอง
ต่อไปนี้จะเป็น เทคนิคในการพูดคุยกับเด็ก ๆ เกี่ยวกับอาการขาดสมาธิของพวกเขา...
1. เลือกเวลา และสถานที่ให้เหมาะสม
เลือกสถานที่ที่เงียบสงบ และรอจนกว่าเด็กๆจะรู้สึกผ่อนคลาย และสบายใจ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านแนะนำให้ใช้เวลาที่อยู่บนรถเมื่อต้องพูดคุยเรื่องสำคัญกับเด็ก ๆ เนื่องจากการพูดคุยกันบนรถนั้นจะสามารถช่วยลดสิ่งรบกวนรอบข้างได้ และทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าที่นี่ปลอดภัยที่จะพูดคุยด้วยเนื่องจากมีแค่คนในครอบครัวเท่านั้นที่อยู่ตรงนี้
และก่อนที่คุณจะเริ่มบทสนทนาใด ๆ ก็ตามกับเด็ก ๆ คุณจะต้องสังเกตภาษากาย หรืออวัจนภาษาของเด็ก ๆ ซะก่อนว่าพวกเขารู้สึกสงบ สบายใจ และพร้อมที่จะพูดคุยกับคุณแล้วหรือยัง และหากเด็กพร้อมแล้วคุณควรจะเป็นผู้เริ่มบทสนทนานั้น ๆ แล้วคอยถามไถ่พูดคุยต่อบทสทนากับเด็กเรื่อย ๆ เมื่อเด็กเริ่มเปิดใจที่จะพูดคุยกับคุณ อย่าปล่อยให้เกิดช่องว่างในการพูดคุยนาน เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกเหมือนไม่ได้รับความสนใจและใส่ใจที่แท้จริงจากคุณ
2. สรุปสิ่งต่าง ๆ
คุณอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องยากในการที่จะพูดคุยสนทนาเกี่ยวกับปัญหา และอุปสรรคต่างๆที่เด็กต้องเผชิญเมื่อถูกวินิจฉัยว่ามีอาการสมาธิสั้น แต่คุณสามารถทำให้บทสนทนาเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นได้เพียงแค่คุณฟังสิ่งที่เด็ก ๆ พูด แล้วคอยสรุปสิ่งที่ได้ยิน ทวนออกมาให้เด็กฟังอีกครั้ง เพื่อเป็นการต่อบทสนทนา และย้ำทวนความเข้าใจของเราไปในตัวอีกทางหนึ่ง
3. ทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับปัญหา และอุปสรรคที่เด็กต้องเผชิญ
ไม่ว่าลูกของคุณจะได้รับการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญว่าอาการที่เด็กเป็นอยู่ตอนนี้เป็นอาการ สมาธิสั้น (สมาธิสั้น) หรือถูกวินิจฉัยว่าอาการที่เด็กเป็นนั้นเป็นเพียงการมีพัฒนาการที่ล่าช้าก็ตาม มันก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องพูดคุยกันถึงเรื่องนี้ เพราะหากปล่อยปะละเลยไม่ยอมพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไข หรือช่วยเหลือใด ๆ กับเด็กเลย สิ่งนี้เองจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว และรู้สึกว่าต้องต่อสู้กับสิ่งนี้เพียงลำพัง
เพราะฉะนั้นการพูดคุยและแสดงให้เห็นถึงความห่วงใย ใส่ใจ และเป็นพวกเดียวกับเด็ก ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กรู้สึกไม่โดดเดี่ยวและพร้อมที่จะก้าวข้ามผ่านปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเขาตอนนี้มากขึ้น และให้ความร่วมมือกับเราเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
4.เป็นแหล่งพลังงานให้กับเด็ก
ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจผลการวินิจฉัย หรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กอย่างแท้จริงแล้ว พูดคุยกับเด็กโดยใช้ภาษาที่เหมาะ และทำการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอาการ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็ก เพื่อให้คุณมีแนวทางในการช่วยให้เด็กมีอาการที่ดีขึ้น และสิ่งนี้เป็นการแสดงให้เด็กเห็นอีกทางหนึ่งด้วยว่าคุณมีความมุ่งมั่น พยายาม พร้อมที่จะก้าวข้ามผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปพร้อมกับเด็ก ๆ และอยากที่จะช่วยเหลือเด็ก ๆ อย่างแท้จริง คุณจะสามารถอธิบายให้เด็กฟังอย่างเข้าใจได้ว่าเด็กจะไม่ได้ต่อสู้กับอาการนี้เพียงลำพัง แต่จะได้รับการช่วยเหลือ และสนับสนุนกับสิ่งที่เป็นอยู่จากทั้งทางบ้าน ทางโรงเรียน และจากผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะสมไปพร้อม ๆ กัน
5. พูดคุยเกี่ยวกับครอบครัวและเพื่อน ๆ
หากเด็กคนนั้น เป็นเด็กที่ต้องการความสนใจที่มากเป็นพิเศษ หรือต้องมีการปรับตัวเวลาเจอกับสถานที่ หรือสถานการณ์ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือที่โรงเรียน พวกเขาอาจจะมีความกังวลว่าเพื่อน ๆ หรือคนอื่น ๆ ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะคิดอย่างไรกับเขา แล้วเขาจะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ไหม หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ก็คือ ช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าการปรับตัวมีความสำคัญกับพวกเขาอย่างไรบ้าง และสถานการณ์ หรือสถานที่ที่เขากำลังไป หรือกำลังเผชิญอยู่จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จในภายภาคหน้า ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้รู้สึกอึดอัด หรือลำบากใจ เปลี่ยนแนวคิดเขาใหม่ซะ
และมีโอกาสที่เด็ก ๆ จะต้องพบเจอกับเรื่องที่ทำให้เด็กรู้สึกอับอายที่โรงเรียน อันมีสาเหตุมาจากอาการขาดสมาธิของพวกเขา เราอาจจะใช้วิธีกำหนดแนวทางในการปรับตัวให้แก่เด็ก ๆ ว่าควรทำอะไรตอนไหน และสิ่งสำคัญก็คือการให้กำลังใจเด็ก ๆ เพื่อให้พวกเขามีกำลังใจในการฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านี้ไปให้ได้
เด็กหลาย ๆ คนต้องต่อสู้กับอาการขาดสมาธิ และอาจจะกำลังเผชิญกับปัญหา หรือสถานการณ์ที่ต้องรับมือ และปรับตัวให้เข้ากับสิ่งนั้น ๆ อยู่ แสดงให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขาไม่ได้อยู่คนเดียว แต่จะมีคุณอยู่เคียงข้างไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
6. อย่าทำให้การพูดคุยการเปลี่ยนเป็นการบรรยาย หรือการสัมภาษณ์
การถามคำถาม และแบ่งปันความรู้เป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องแน่ใจว่าคุณให้เวลา และโอกาสเด็ก ๆในการแบ่งปันความรู้สึกนึกคิดของเขาออกมาได้อย่างมากพอ จากนั้นแสดงให้พวกเขาเห็นว่าคุณกำลังตั้งใจฟัง และเปิดใจรับฟังความคิด ความกลัว และความวิตกกังวลต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกับพวกเขาอยู่ และอย่าพูดคุยกันด้วยสิ่งที่คุณได้ศึกษามาเกี่ยวกับอาการขาดสมาธิ หรือการความคิดของคุณมารวมอยู่ในบทสนทนามากเกินไป เพราะนั้นจะเป็นการตัดโอกาสที่เราจะได้รับฟังและพูดคุยเกี่ยวกับอาการ และความรู้สึกนึกคิดที่แท้จริงของเด็กๆ
7. ให้พลังแก่ลูกของคุณ
พูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และผลการวินิจฉัยอาการของเด็กกับคุณครู และเพื่อน ๆ ของเด็ก ว่าเด็กมีอาการเป็นอย่างไร และจะสามารถแสดงพฤติกรรมใดออกมาได้บ้าง ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์มีเสียง และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการรักษา พร้อมทั้งต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าอาการสมาธิสั้น หรืออาการขาดสมาธิไม่ได้มีผลต่อความฉลาด หรือความสามารถในการที่จะประสบความสำเร็จในการทำสิ่งใด ๆ ของพวกเขา
8. พูดคุยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
หากคุณอยู่ในช่วงแรกที่พึ่งได้รับผลการวินิจฉัยว่าเด็กมีอาการขาดสมาธิ หรือคิดว่าอาการขาดสมาธิเป็นเรื่องใหม่สำหรับบุตรหลานของคุณ สิ่งสำคัญที่คุณจะต้องทำก็คือการให้ความมั่นใจกับพวกเขาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นที่จะเกิดขึ้นกับตัวของพวกเขา
ในช่วงนี้ เด็ก ๆ อาจจะเกิดความรู้สึกที่หลากหลาย รวมถึงอารมณ์กลัว และอารมณ์โกรธที่ส่งผลให้การตัดสินใจ และการควบคุมตัวเองในสถานการณ์ต่าง ๆ มีประสิทธิภาพลดลง
และในระยะยาวผู้ปกครองจะต้องแสดงให้พวกเขาเห็นว่าหลังจากนี้ จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง อะไรที่จะเหมือนเดิม และอะไรที่จะดีขึ้นหลังจากผ่านช่วงนี้ไปในอีกสัปดาห์ อีกเดือน หรืออีกปี การมองเห็นว่าอนาคตตัวเองจะเป็นอย่างไรหากทำตามคำแนะนำ หรือปฏิบัติตนตามแนวทางการช่วยเหลือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก ๆ ที่กำลังต่อสู้กับอาการขาดสมาธิของตัวเอง
พูดคุยเกี่ยวกับวิธีที่จะทำให้เด็ก ๆ ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับอาการขาดสมาธิให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งพูดคุยเกี่ยวกับวิธีการจัดการปัญหาที่ต้องเผชิญ พร้อมให้คำแนะนำ และกำลังใจกับเด็กไปจนสุดทางตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนกระทั้งพวกเขาสามารถเอาชนะอาการขาดสมาธิของตัวเองได้
9. ทำให้เด็ก ๆ เห็นว่าคุณคอยสนับสนุนพวกเขาอยู่
แสดงให้พวกเขาเห็นว่าคุณรัก และยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเป็น เป็นผู้สนับสนุนที่ดีของเด็ก ๆ แต่อย่าพยายามแก้ไขทุกเรื่องที่อาจเกิดความผิดพลาดให้พวกเขา เพราะจะทำให้พวกเข้ารู้สึกว่าพวกเขาทำอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาคุณอยู่เสมอ
ทำให้พวกเขารู้สึกว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็จะมีคุณที่อยู่เคียงข้างเขาเสมอ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทำให้พวกเขารู้สึกว่าพวกเขามีความสามารถที่จะประสบความสำเร็จในการทำสิ่งใด ๆ ได้ด้วยตนเอง ช่วยเด็ก ๆในการกำหนดเป้าหมาย หรือสิ่งที่ต้องทำ และเมื่อพวกเขาสามารถทำได้สำเร็จก็ทำการชมเชย และให้รางวัลแก่เด็ก ๆ เมื่อหากเป้าหมายใดที่เด็ก ๆ ไม่สามารถที่จะทำมันให้สำเร็จได้ ผู้ปกครองจะต้องพูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเพราะเหตุใดเด็ก ๆ จึงไม่สามารถทำให้มันสำเร็จได้ แล้วให้เด็กลองทำมันใหม่อีกครั้ง โดยเอาความผิดพลาดครั้งเก่ามาเป็นบทเรียนไม่ให้ผิดซ้ำ และหากเด็กทำได้ก็ให้รางวัล และการสนับสนุนในความสำเร็จครั้งนี้
10. ตรวจสอบเป็นประจำ
การพดคุยเกี่ยวกับการต่อสู้กับอาการขาดสมาธิกับเด็กเพียงครั้งเดียวนั้นไม่เพียงพอ ควรกำหนดเป้าหมายที่เด็กจะต้องทำ และตรวจสอบเป้าหมายที่กำหนดเป็นประจำ ว่ามีเป้าหมายใดทำสำเร็จแล้ว หรือเป้าหมายใดที่ยังไม่ได้ทำ หรือยังทำไม่สำเร็จ เพื่อที่จะได้นำเอาเป้าหมายที่ยังไม่ได้ทำ หรือทำไม่สำเร็จนี้มาพูดคุย เพื่อหาสาเหตุ และแนวทางการแก้ไขเพื่อที่จะทำให้เด็ก ๆ สามารถทำเป้าหมายนั้นได้สำเร็จ อย่าเหมารวมไปว่าการที่เด็ก ๆ ไม่สามารถทำตามเป้าหมายได้เป็นเพราะปัญหาในการเรียน สุขภาพ หรืออาการที่เขาเป็น แต่ให้ผู้ปกครองเปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมกับการกำหนดเป้าหมาย และตวรจสอบความสำเร็จของเป้าหมายแต่ละอย่างที่ได้ร่วมกันคิดขึ้นมาจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเด็กมากกว่า
การพูดคุยเรื่องอาการขาดสมาธิ หรือสมาธิสั้นกับเด็ก ๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันเป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญสำหรับการช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่คุณสามารถทำได้ และสิ่งสำคัญอีกอย่างที่คุณสามารถทำให้พวกเข้าได้ก็คือการที่คุณคอยอยู่เคียงข้างพวกเขาในทุกสถานการณ์ คอยเป็นกำลังใจ และแรงผลักดันให้กับเด็ก ๆ จะทำให้เด็ก ๆ สามารถก้าวข้ามผ่านสิ่งที่ต้องเผชิญได้สำเร็จ และเป็นการก้าวข้ามผ่านปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีคุณภาพ และอุ่นใจมากขึ้นนั่นเอง
------------------------------------
BrainFit รับสมัครน้องๆ อายุตั้งแต่ 3-18 ปี
รับคำปรึกษาจากเรา ได้แล้ววันนี้ ฟรี!
02-656-9938 / 02-656-9915 / 091-774-3769
LINE: @brainfit_th
ที่มา: www.fastforwordhome.com