5 สิ่งที่ ลูกวัยรุ่น อยากบอกให้พ่อแม่รู้

5 สิ่งที่ ลูกวัยรุ่น อยากบอกให้พ่อแม่รู้

ว่ากันว่าการที่ลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นนั้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่สำหรับพ่อแม่ที่ต้องเตรียมรับมือ ไม่ใช่แค่ร่างกายที่เติบโตขึ้น แต่รวมไปถึงจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และสังคมของลูกก็เกิดการเปลี่ยนแปลง 

แล้วในฐานะผู้ปกครองเราพอจะมีวิธีรับมือกับ ลูกวัยรุ่น ได้หรือไม่?

วิธีการเลี้ยงดูลูกวัยรุ่นนั้นมีมากมายหลายตำรา แต่จะสามารถนำไปใช้กับลูกเราแล้วเห็นผลไหมนั่นก็อีกเรื่อง เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเมื่อลูกเป็นวัยรุ่น เขาจะเป็นแบบไหนหรือแสดงออกอย่างไร จนกว่าเราจะได้เจอกับตัวเอง

วันนี้ BrainFit จึงขอเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งในมุมของ ลูกวัยรุ่น เป็นความคิดหรือมุมมองของลูกที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรจะรู้ เพื่อนำไปปรับใช้ในการเตรียมรับมือและเข้าใจลูกวัยรุ่นที่น่ารักของเราได้มากขึ้น

 

"ลูกวัยรุ่น"

 

5 สิ่งที่ ลูกวัยรุ่น อยากบอกให้พ่อแม่รู้

 

1. เพราะนี่คือธรรมชาติการเติบโตของหนู

การเป็นวัยรุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตัวลูกเองก็ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่เช่นกัน ทั้งการเติบโตของร่างกาย สารเคมีในสมอง ฮอร์โมน รวมไปถึงอารมณ์ที่ยากเกินจะควบคุม เพราะเหตุนี้เองวัยรุ่นจึงมักจะถูกผู้ใหญ่มองว่า…

  • วันรุ่นใจร้อนใช้อารมณ์ตัดสิน 
  • วัยรุ่นหุนหันพลันแล่นไม่คิดหน้าคิดหลัง 
  • วัยรุ่นอยากรู้อยากลอง
  • วันรุ่นติดเพื่อนไม่เอาครอบครัว

ทั้งที่จริงแล้ว นี่คือธรรมชาติและพัฒนาการของมนุษย์ที่ทุกคนต้องเจอในช่วงวัยรุ่น แม้แต่เราเองก็เคยผ่านช่วงนี้มาแล้วเช่นกัน บางคนอาจจะเป็นมากหรือน้อยซึ่งก็แตกต่างกันตามสภาพแวดล้อมที่เติบโตมา 

 

เพราะพัฒนาการของมนุษย์ ช่วงวัยรุ่นเริ่มตั้งแต่วัย 12 ปียาวไปจนถึงอายุ 18 ปีโดยประมาณ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะมีดังนี้

  • ให้ความสนใจและความสำคัญกับเสื้อผ้า การแต่งกาย และภาพลักษณ์ของตัวเองมากขึ้น
  • ประสบปัญหาเรื่องความมั่นใจในตัวเอง
  • อารมณ์จะเปลี่ยนแปลงไว ขึ้น ๆ ลง ๆ รู้สึกเศร้า โกรธ หรือเสียใจได้ง่าย
  • ให้ความสนใจและอยากใช้เวลาอยู่กับเพื่อนมากกว่าครอบครัว
  • แสดงความรักกับครอบครัวน้อยลง
  • ชอบความเป็นอิสระหรือการมีพื้นที่เป็นของตัวเอง
  • เริ่มสนใจเรื่องความรักและความสัมพันธ์มากขึ้น
  • แสดงความเครียดหรือความกังวล ทั้งในเรื่องการเรียนและเรื่องเพื่อนมากเป็นพิเศษ
     

จากตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ บางส่วน จึงอยากให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองเข้าใจว่า นี่คือธรรมชาติของลูก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้เมื่อเขาเข้าสู่วัยรุ่นที่ทุกคนจะต้องเจอ

 

2. พ่อจ๋าแม่จ๋า ฟังหนูบ้างได้ไหม

หลายครั้งที่เรามักจะสอนลูก เตือนลูก หรือบ่นลูก เพราะอยากจะให้เขาเชื่อฟัง แต่สิ่งที่ได้มากลับเป็นการเดินหนี ถูกปิดประตูใส่ หรือทะเลาะกันจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต 

ทั้งที่เราหวังดีอยากจะสอนลูก แต่ทำไมกลายเป็นแบบนี้กันนะ ?

เพราะวัยรุ่นต้องการคนรับฟังมากกว่าคนสอน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมลูกวัยรุ่นถึงชอบอยู่กับเพื่อนมากกว่า เพราะเพื่อนสามารถฟังและเข้าใจเขาได้นั่นเอง ดังนั้นถ้าเราอยากให้ลูกเชื่อฟังเรามากขึ้น เราแค่ฟังเขามากขึ้นก่อน สอนให้น้อยที่สุด ที่สำคัญคือเชื่อใจลูกให้มาก ๆ 

 

“มีอะไรไม่สบายใจเล่าให้พ่อกับแม่ฟังได้นะลูก”

“สีหน้าดูไม่ค่อยดี วันนี้หนูโอเคไหมจ้ะ”

“ถ้าอยากคุยกับแม่ หนูไปหาแม่ที่ห้องได้เสมอนะลูก”

 

หลังจากที่ลูกเล่าให้เราฟังแล้ว สิ่งที่เราไม่ควรทำคือการแสดงความวิตกกังวล ไม่ว่าจะแสดงออกทางสีหน้า น้ำเสียง หรือจะเป็นทางคำพูด ดังตัวอย่างต่อไปนี้

 

“ตายแล้ว เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้ยังไงเนี่ย”

“ทำไมลูกถึงทำแบบนี้ แม่บอกแล้วใช่ไหมว่าให้ระวัง”

“แล้วแม่จะทำยังไงดีล่ะเนี่ย ตายๆๆๆ”

 

ถ้าลูกเล่าให้เราฟังแล้วทำให้เรากังวล ต่อไปคิดว่าลูกจะมาเล่าเรื่องหรือปรึกษาปัญหากับเราอีกหรือเปล่า? อาจจะยังเล่านะคะแต่เล่าไม่ครบ เพราะเหมือนเราไม่ได้ช่วยลูกแก้ปม แต่กลับกลายเป็นการผูกปมนั้นให้แน่นขึ้น

ดังนั้นถ้าลูกยอมเปิดใจเล่าเรื่องให้เราฟัง จงรับฟังอย่างตั้งใจไม่ตัดสิน แสดงความเห็นอกเห็นใจ และเมื่อใดที่ลูกต้องการคำแนะนำเขาจะเป็นคนถามเราเอง

เมื่อลูกสัมผัสได้แล้วว่าครอบครัวก็สามารถรับฟังแลเข้าใจเขาได้ เวลาที่ลูกมีปัญหาแทนที่จะไปปรึกษาเพื่อนอย่างเดียว เขาจะหันมาพูดคุยและปรึกษาพ่อแม่มากขึ้น ถึงเวลานั้นเราก็สามารถแนะนำและสอนเขาได้ โดยที่ลูกจะรับฟังและเชื่อเราอย่างสุดหัวใจ เหมือนที่เราเคยตั้งใจรับฟังเขาเสมอมา

 

"ลูกวัยรุ่น"

 

3. ถ้าหนูร้อนเหมือนไฟ พ่อกับแม่ช่วยเป็นน้ำให้หน่อยนะ

หลายครั้งที่ลูกพูดกับเราไม่น่ารัก เสียงดัง หรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อยากให้พ่อแม่เข้าใจเพราะแท้จริงแล้ว ลูก ๆ หลายคนจะไปนั่งรู้สึกผิดอยู่คนเดียวหลังจากที่ทำพฤติกรรมไม่น่ารักกับพ่อแม่ ดังนั้น เราจะไม่ใช้อารมณ์กับลูกเด็ดขาด ถ้าตอนนั้นเรารู้สึกโมโห ขอให้สงบสติอารมณ์ให้ได้ก่อนจะคุยกับลูก เพราะเราไม่อยากเติมเชื้อเพลิงให้ไฟกองนี้มันลุกโชนขึ้น ถูกต้องไหมคะ 

ดังนั้น เราจะเป็นเหมือนน้ำที่เย็นและสงบ พยายามเข้าใจและสะท้อนอารมณ์ให้ลูกรู้ตัว เพื่อจะให้ลูกเข้าใจอารมณ์ตัวเอง พยายามควบคุมอารมณ์ให้นิ่งและเย็นลงแบบเราได้

“แม่เข้าใจว่าตอนนี้หนูกำลังโมโห ถ้าใจเย็นลงแล้วเราค่อยมาคุยกันนะลูก”

หลังจากที่ลูกแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสมกับเรา แต่เขาเห็นแล้วว่าเราไม่ได้โมโหกลับมา ไม่ได้ดุหรือต่อว่าอะไรแต่กลับรอให้เขาใจเย็นลง ลูกจะเปิดใจและหันมาคุยกับเราด้วยเหตุผลมากขึ้น

 

“แม่เข้าใจหนูนะ เพราะเมื้อกี้หนูกำลังโมโหจนควบคุมตัวเองไม่ได้ลูกเลยปิดประตูเสียงดัง”

“แม่เองก็รู้สึกไม่ค่อยดีที่หนูทำแบบนั้น แต่แม่ดีใจนะที่เห็นหนูพยายามควบคุมตัวเองให้ใจเย็นลง แล้วเดินมาคุยกับแม่”

“ไหน อะไรทำให้หนูโมโห หนูเล่าให้แม่ฟังได้ไหม”

“ขอบคุณนะลูกที่เล่าเรื่องให้แม่ฟัง แม่ชอบคุยกับหนูเวลาที่หนูใจเย็นแบบนี้ ไม่ว่าหนูจะรู้สึกกังวล เศร้า หรือมีความสุข

หนูเล่าให้แม่ฟังได้ทุกเรื่องเลยนะลูก แม่ยินดีรับฟัง”

 

4. หนูอยากมีพื้นที่ของตัวเอง

ตอนเด็ก ๆ ลูกเคยนอนกับเรา ใช้เวลากับเรา ตัวติดกับเราไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แต่เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นแล้วลูกจะอยากเป็นอิสระมากขึ้น อยากมีพื้นที่ของตัวเอง และใช้เวลากับเพื่อนมากขึ้น สิ่งที่เราสามารถทำได้คือ การยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้และให้พื้นที่ส่วนตัวกับลูก

 

อาจจะให้ลูกมีห้องนอนส่วนตัวโดยให้เขารับผิดชอบดูแลความสะอาดพื้นที่นี้ด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่และลูกสามารถกำหนดกฎระเบียบร่วมกัน เช่น 

  • ทุกวันอาทิตย์จะเป็นวันทำความสะอาด 
  • เสื้อผ้าที่ใส่ในตะกร้าจะถูกนำไปซัก แต่ถ้าลูกใส่ไม่ลงตะกร้าเขาจะต้องซักเอง 
  • เวลาทานข้าวด้วยกันจะไม่เล่นมือถือ 
  • ก่อนจะเข้าห้องลูกพ่อแม่จะเคาะประตูก่อนเสมอ และรอให้ลูกอนุญาต เช่นกัน ถ้าลูกอยากไปหาพ่อแม่ ลูกก็ต้องเคาะประตูก่อน เป็นต้น

ที่สำคัญมากที่สุดคือ เราจะไม่เข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของลูกเด็ดขาด เว้นแต่ว่าลูกอนุญาตแล้วเท่านั้น เพราะเป็นการแสดงความเคารพและแสดงความเชื่อใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกวัยรุ่นต้องการมากที่สุดจากครอบครัว

ดังนั้นการที่เราสามารถให้พื้นที่ส่วนตัวกับลูกได้ เหมือนกับเราได้เปิดใจและยอมรับในตัวลูก ลูกเองก็จะเปิดใจกับพ่อแม่มากยิ่งขึ้น การตีตัวออกห่างจากครอบครัวก็จะยิ่งน้อยลง เพราะเขามีพื้นที่ส่วนตัวเป็นของตัวเอง ลูกจะรู้สึกว่าบ้านคือพื้นที่ปลอดภัยของเขา บางคนอาจจะยอมให้พ่อแม่เข้าออกห้องส่วนตัวของลูกได้อย่างเต็มที่เลยก็เป็นไปได้ เพราะพื้นที่ส่วนตัวของเขาก็คือบ้านหลังนี้

 

"ลูกวัยรุ่น"

 

5. ไม่คาดหวัง แค่ยอมรับในตัวตนของหนู

เพราะเด็ก ๆ ทุกคนล้วนเติบโตมาในครอบครัวและสังคมที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่มีใครสมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ บางครั้งเราเห็นความสำเร็จของลูกคนอื่น ก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับลูกตัวเอง อยากให้ลูกได้ดิบได้ดีแบบนั้นบ้าง แต่อย่าลืมว่าเราไม่เคยเห็นเบื้องหลังความสำเร็จนี้เลย เพราะกว่าที่เขาจะมาถึงจุดนี้ได้ เขาอาจจะผ่านอุปสรรคปัญหามามากมายนับไม่ถ้วน

“ลูกเราจะเก่งเท่าลูกของเพื่อนไหม” 

“ลูกเราจะเป็นหมอได้ไหม” 

“ลูกเราจะได้เรียนในมหาวิทยาลัยดี ๆ ไหม”

“ลูกเราจะประสบความสำเร็จไหม” 

 

เริ่มจากลบความคาดหวังเหล่านี้ออกไป แล้วกลับมารับฟังและยอมรับในสิ่งที่ลูกอยากเป็นกันดีกว่า

ดูว่าลูกชอบอะไร อยากเรียนอะไร อยากทำอะไร แล้วพ่อแม่คอยรับฟัง คอยสนับสนุนเขาให้เต็มที่ ระหว่างทางที่ลูกพยายามอาจจะล้มลุกคลุกคลาน เจอปัญหาอุปสรรคบ้าง แต่ขอให้เขาได้เป็นคนเลือกและลงมือทำด้วยตนเอง ต่อให้ลูกทำเต็มที่แล้วไม่สำเร็จ เชื่อเลยว่าเขากลับมาพยายามใหม่ด้วยตัวเอง 
เพราะเขามีกำลังใจที่สำคัญอยู่เคียงข้างเสมอ

กลับกันถ้าลูกยอมทำตามความคาดหวังของเรา ทำตามความฝันที่เราอยากให้ลูกเป็น แม้ลูกพยายามทำจนสำเร็จ จนทำให้พ่อแม่มีความสุขได้ แต่ความรู้สึกของลูกล่ะ เขาจะเป็นอย่างไร จะมีความสุขอยู่หรือเปล่า ?

เพราะความฝันเราไม่ใช่ความฝันลูก ดังนั้นยอมรับในสิ่งที่ลูกชอบและสนันสนุนเขาให้เต็มที่ คอยอยู่เคียงข้าง คอยให้กำลังใจ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาแค่นี้ก็มากเพียงพอแล้วที่ ลูกวัยรุ่น คนหนึ่งต้องการ

เป็นอย่างไรบ้างคะ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจ ลูกวัยรุ่น มากขึ้น เพราะเด็กวับรุ่นก็เป็นเพียงเด็กคนหนึ่งที่ต้องการความรัก การยอมรับ และการเชื่อใจจากครอบครัว เพียงแค่พ่อแม่พยายามเข้าใจเขาให้มากขึ้น รับฟังเขามากขึ้น และให้โอกาสเขาได้เรียนรู้ตัวเองมากขึ้น เท่านี้เราก็สามารถเลี้ยงดูและใช้เวลาอยู่กับลูกได้อย่างมีความสุขมากขึ้นแล้วล่ะค่ะ

 

พัฒนาสมาธิเด็ก อย่างถูกวิธี ส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ได้ดีขึ้น

 

"แก้ปัญหาสมาธิสั้น"

 

 

เพิ่มเพื่อน

LINE: @brainfit_th 

จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ และ อาทิตย์  

02-656-9938 / 02-656-9939 02-656-9915

วันพฤหัสบดี-วันศุกร์  091-774-3769

 

Contact Us

If you would like to have your child attend our course, or you would simply like more information, please contact us today.

BrainFit Studio Thailand 2nd floor, Ploenchit Center,
Sukhumvit Soi 2, Bangkok 10110BTS Ploenchit Station Exit 4