Parenting Pyramid กลยุทธ์ และ เทคนิคการเลี้ยงลูก อย่างถูกวิธี

Parenting Pyramid กลยุทธ์ และ เทคนิคการเลี้ยงลูก อย่างถูกวิธี

 

            คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนหวังอยากให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นเด็กฉลาด อารมณ์ดี มีคุณภาพ และประสบความสำเร็จในชีวิต แล้วคุณพ่อคุณแม่อย่างเราจะทำอย่างไรดีล่ะ? วันนี้ BrainFit ยินดีที่จะนำเสนอกลยุทธ์ และ เทคนิคการเลี้ยงลูก ตั้งแต่วิธีการเลี้ยงดู การจัดการกับพฤติกรรมลูก และประโยชน์ที่ลูกจะได้รับจากวิธีการนี้ เพื่อให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นเด็กดีและมีคุณภาพ ไปดูกันเลย!

โดยพื้นฐานแล้วลูกจะเติบโตมาอย่างดีและมีคุณภาพนั้น เริ่มต้นจากการปฏิบัติ และ การเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ เริ่มต้นได้ง่าย ๆ ดังนี้

 

  • การสื่อสาร (Talking)

                คุณพ่อคุณแม่จะต้องเป็นคนที่สื่อสารกับลูกให้มากที่สุด เพราะลูกเริ่มเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากการพูดคุยกับพ่อแม่เป็นคนแรก ๆ นอกจากการสื่อสารจะช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ให้ลูกของเราแล้ว การสื่อสารยังจะเป็นการสานสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ลูกจะรู้สึกสบายใจที่มีพ่อแม่อยู้ข้าง ๆ คอยรับฟังและพูดคุยกับเขาอยู่เสมอ

 

  • การรับฟัง (Listening)

                เมื่อลูกกำลังพูดคุยหรืออธิบายบางอย่าง คุณพ่อคุณแม่ควรรับฟังอย่างตั้งใจ สบตา และแสดงความสนใจให้ลูกเห็น ปล่อยให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ แล้วที่สำคัญการถามคำถามกลับเพื่อให้ลูกอธิบายเพิ่ม ก็ช่วยให้ลูกรู้สึกได้ว่าพ่อแม่กำลังสนใจเขาอยู่มากเลยทีเดียว นอกจากจะทำให้คุณพ่อคุณแม่อย่างเรารู้จักและสนิทสนมลูกมากขึ้นแล้ว ยังเสริมสร้างความมั่นใจให้กับลูก ทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น สิ่งนี้ค่อนข้างสำคัญเพราะลูกจะเรียนรู้การเป็นผู้พูดและผู้ฟังที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่ และซึมซับนำไปใช้จนเป็นนิสัยนั่นเอง

 

  • การแก้ปัญหา (Ploblem Solving)

                เมื่อลูกเริ่มดื้อหรือทำอะไรที่ไม่สมควร แทนที่เราจะห้ามด้วยคำว่า "ไม่!" หรือ "อย่าทำ!" คุณพ่อคุณแม่ลองเปลี่ยนเป็นคำอื่นที่สามารถอธิบายเหตุผลเพิ่ม เช่น "ระวัง" "เบา ๆ" "ค่อย ๆ" "ช้า ๆ" "หม้อร้อนนะลูก" "มีดคมนะลูก" เป็นต้น คำเหล่านี้จะทำให้ลูกเข้าใจถึงเหตุผลที่ไม่สมควรทำมากขึ้น แต่ถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นไปแล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่เล่าเหตุการณ์ในสิ่งที่เห็น แล้วต่อด้วยสิ่งที่อยากให้ลูกทำ เช่น "เมื่อกี้แม่เห็นลูกเทของเล่นออกจากกล่องทั้งหมด" "แม่อยากเห็นลูกหยิบของเล่นที่อยากเล่น 1 ชิ้น ให้แม่ช่วยเลือกดีไหม" พูดด้วยเหตุผลเพื่อให้ลูกเห็นว่าสิ่งที่ควรทำสิ่งไหนที่ไม่ควรทำ นอกจากการพูดแล้วการลงมือทำหรือแสดงเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

 

  • การเล่น (Play)

                ไม่ว่าจะเล่นคนเดียวหรือเล่นกับเพื่อน คุณพ่อคุณแม่ควรจะสนับสนุนให้ลูกได้เล่นอย่างเต็มที่และอิสระ เพราะการเล่นนั้นจะช่วยส่งเสริมให้ลูกได้คิดต่อยอด แก้ไขปัญหา มีความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการที่ดี กระตุ้นการพัฒนาเซลล์ประสาทนับล้านในสมอง เพราะในการเล่นแต่ละครั้ง ลูกจะได้ใช้ทักษะหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ทั้งการมอง การฟัง ประสาทสัมผัส ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมไปถึงอารมณ์และการเข้าสังคม พูดง่าย ๆ การเล่นก็เหมือนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะสมอง แต่ก็อย่าลืมดูแลเรื่องความปลอดภัยให้ลูกเล่นอยู่ในขอบเขตนะคะ

 

  • ความใส่ใจและการมีส่วนร่วม (Attention & Involvement)

                การที่ลูกมีคุณพ่อคุณแม่อยู่ข้าง ๆ เสมอ ลูกจะเป็นเด็กที่ภาคภูมิใจ รู้คุณค่า และเห็นความสำคัญของตัวเองเพราะความรักที่ได้รับมาจากครอบครัว นอกจากนี้พ่อแม่ที่คอยเอาใจใส่ลูก จะรู้จักลูกเป็นอย่างดีเห็นถึงจุดเด่นและความสามารถพิเศษของลูก เพราะเด็กจะแสดงความสามารถออกมาโดยที่เขาไม่รู้ตัว ดังนั้นพ่อแม่อย่างเรานี่แหละที่จะคอยสนับสนุนและดึงศักยภาพของลูกออกมาได้อย่างเต็มที่ และที่สำคัญลูกเองก็จะรู้ว่า ไม่ว่าเค้าจะเจออุปสรรคหรือปัญหาใหญ่แค่ไหน เขาจะมีพ่อแม่อยู่ข้าง ๆ เสมอ คอยเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับลูก ทำให้ลูกกล้าเผชิญและแก้ไขปัญหาได้อย่างกล้าหาญ

 

  • ความเห็นอกเห็นใจลูก (Empathy)

                การที่ลูกได้รับความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจจากคุณพ่อคุณแม่ คือสิ่งที่สำคัญที่ส่งผลต่อจิตใจอันเข้มแข็งของลูก คุณพ่อคุณแม่ที่คอยรับฟังและทำความเข้าใจกับความต้องการของลูกที่แท้จริง คอยอยู่เคียงข้างไม่ว่าลูกจะเลือกเส้นทางใดในการดำเนินชีวิต คอยช่วยเหลือเมื่อลูกเผชิญกับปัญหา และคอยชื่นชมเมื่อลูกพยายามจนประสบผลสำเร็จ สิ่งเหล่านี้หากได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็กจะทำให้ลูกกล้าที่จะเลือกเส้นทางของตนเอง กล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ กล้าเผชิญกับปัญหาและพร้อมเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ รู้จักอดทน รอคอย แก้ไขปัญหาเป็น และประสบผลสำเร็จด้วยตนเองได้ ที่สำคัญลูกจะเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจต่อความรู้สึกของผู้อื่นเช่นเดียวกับที่พ่อแม่มีต่อลูกนั่นเอง

 

  • การให้รางวัลและการชมเชย (Rewards & Praise)

                การให้รางวัลและการชมเชยนี้จะช่วยให้ลูกมีความมั่นใจและภาคภูมิใจในตัวเอง แต่ก็มีสิ่งที่เราต้องระวังคือการชมลูกบ่อยเกินไปเพราะคำชมนั้นอาจจะหมดคุณค่า ดังนั้นเราควรชื่นชมที่ความพยายามและให้รางวัลเมื่อเขาประสบผลสำเร็จด้วยความพยายามและตั้งใจอย่างเต็มที่ หากลูกท้อหรือหมดกำลังใจ พ่อแม่อย่างเราก็ต้องคอยให้กำลังใจและสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทำให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่จะอยู่เคียงข้าง คอยแก้ไขปัญหา และก้าวข้ามอุปสรรคไปด้วยกัน การชื่นชมและให้รางวัลลูกอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ลูกมีความมั่นใจ ภาคภูมิใจ และกล้าที่จะเรียนรู้โลกกว้างอย่างเต็มที่

 

                จากวิธีการเลี้ยงดูลูกข้างต้น เราหวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะได้ข้อมูลดี ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้กับลูกได้บ้างแล้ว แต่เอ๊ะ? แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ ถ้าบางครั้งลูกก็มีพฤติกรรมที่ทำให้เราลำบากใจแสดงออกมา เช่น ไม่เชื่อฟัง เอาแต่ใจตัวเอง ไม่ยอมรับผิด ไม่พูดขอโทษ ฯลฯ

BrainFit เข้าใจในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กำลังกังวลใจเป็นอย่างดี เราจึงยินดีนำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยวิธีการสุดแสนง่าย ดังต่อไปนี้

 

  • สร้างกฎเกณฑ์อย่างชัดเจน (Limits & Rules)

                ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกเชื่อฟังและมีชีวิตที่เป็นระเบียบมากขึ้น เริ่มง่าย ๆ ด้วยการสร้างกฎระเบียบภายในบ้านโดยเป็นกฎที่มีเหตุผลเหมาะสมกับช่วงวัยของลูก และพ่อแม่เองก็ต้องทำตามอย่างเคร่งครัดเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น กำหนดเวลากินข้าว การตื่นนอน-เข้านอน ทำการบ้านก่อนดูทีวี นำเสื้อผ้าที่ใส่แล้วลงตะกร้า ใส่รองเท้าก่อนออกบ้าน หรือถอดรองเท้าเมื่อเข้าในบ้าน เป็นต้น กำหนดบทลงโทษเมื่อลูกไม่ทำตามกฎ และอย่าลืมชื่นชมลูกเมื่อลูกสามารถรักษากฎได้เป็นอย่างดีนะคะ ทั้งนี้เมื่อลูกโตขึ้นอาจให้ลูกมีส่วนร่วมในการสร้างกฎบางอย่างด้วยตนเอง สิ่งนี้เองจะทำให้ลูกค่อย ๆ ซึมซับและเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมีกฎระเบียบ เข้าสังคมได้ดี และพฤติกรรมที่เหมาะสมเมื่อลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่

 

  • การลงโทษ (Consequences)

                เมื่อมีการทำผิดพลาดก็ต้องมีการลงโทษ แต่แน่นอนว่าการตี ไม่ใช่การลงโทษที่เหมาะสมเท่าไหร่นัก เพราะอาจส่งผลให้ลูกเสียความมั่นใจ และซึบซับการใช้ความรุนแรงนี้ไปใช้กับผู้อื่น แล้วเราจะลงโทษอย่างไรให้เหมาะสมกับลูกดีล่ะ?

 

                มาดูที่วิธีแรกเลยคือ การให้แยกลูกอยู่คนเดียวหรือที่เรียกว่า Time out เมื่อลูกทำผิดให้คุณพ่อคุณแม่บอกก่อนว่าลูกทำผิดอะไร เช่น "ลูกจะรื้อของออกมาแบบนี้ไม่ได้นะ ลูกไปนั่งที่มุม หรือ ลูกไปนั่งที่เก้าอี้ตัวนั้นเดี๋ยวนี้" โดยมุมหรือพื้นที่สงบสติอารมณ์ของลูกควรเป็นที่ที่ไม่มีของเล่น แต่อาจมีนาฬิกาเพื่อให้ลูกรู้ว่าควรอยู่กับตัวเองนานเท่าไหร่ ซึ่งเวลาไม่ควรเกิน 10 นาที อาจปรับให้เหมาะสมตามอายุ เช่นเด็ก 3 ขวบก็เข้ามุม 3 นาที เป็นต้น ระหว่างที่ลงโทษพ่อแม่ต้องไม่พูดคุยหรือสนใจลูก แต่เมื่อครบเวลาแล้วให้เข้าไปพูดกับลูกทันที่ถึงเหตุผลที่ลูกทำแบบนั้นไม่ได้ และพูดถึงสิ่งที่ลูกควรทำ ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นและพูดกับลูกด้วยเหตุผลนะคะ

 

                วิธีที่สองคือ การเพิกเฉยไม่สนใจ ถ้าลูกเกิดร้องไห้เสียงดังเพราะถูกขัดใจ คุณพ่อคุณแม่ลองเพิกเฉยไม่สนใจ ปล่อยให้ลูกร้องไห้อยู่ตรงนั้นไปก่อน ทำทีเป็นเดินออกมาแต่ให้ลูกอยู่ในสายตาว่ายังปลอดภัยดี ลูกจะหยุดและเดินกลับมาเอง เมื่อลูกหยุดร้องแล้วคุณพ่อคุณแม่ค่อยเข้าไปพูดถึงสิ่งที่ลูกทำว่าไม่เหมาะสมอย่างไร พร้อมทั้งอธิบายเหตุผล และบอกสิ่งที่ควรทำให้ลูกฟังและเข้าใจด้วยความใจเย็น

 

                วิธีที่สามคือ การตัดสิทธิ์ เป็นการจำกัดหรือตัดสิทธิ์ในสิ่งที่ลูกอยากทำ ตัวอย่างเช่น "ถ้าลูกอยากดูทีวีแต่ยังทำการบ้านไม่เสร็จ ต่อไปลูกจะไม่ได้ดูทีวีอีก" หรือ "ถ้าลูกไม่ยอมทำการบ้าน ลูกจะไม่ได้ไปเที่ยวในวันหยุดนี้" โดยวิธีนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องหนักแน่นและเคร่งครัด อธิบายเหตุผลให้เข้าใจว่าทำไมต้องทำงานให้เสร็จก่อน ซึ่งวิธีนี้หากลูกเข้าใจและทำตามได้จะทำให้ลูกมีระเบียบและจัดลำดับความสำคัญได้ดีขึ้น

 

                วิธีที่สี่คือ การแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำ ถ้าลูกทำน้ำหก ลูกก็ต้องเช็ดให้สะอาด หรือ ถ้าลูกรื้อของจนห้องรก ลูกก็ต้องเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย วิธีนี้เป็นการใช้หลักการและเหตุผลแสดงให้ลูกเข้าใจ และได้แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำมากขึ้นนั่นเอง

การลงโทษเช่นนี้จะช่วยปรับและขัดเกลาพฤติกรรมของลูกให้ดีขึ้น และลูกเองก็จะค่อย ๆ เรียนรู้ ซึมซับพฤติกรรมเหล่านี้จนเป็นนิสัยที่ติดตัวไปจนโต หากเราจำเป็นต้องลงโทษลูก ก็ควรเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมกับช่วงวัยและพฤติกรรมของลูกด้วยนะคะ

 

เทคนิคการเลี้ยงลูก

 

 

                เทคนิคการเลี้ยงลูก ที่ BrainFit เอามานำเสนอนี้จะช่วยปรับและขัดเกลาพฤติกรรมของลูกให้ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ลูกของเราเป็นเด็กที่มีทักษะการเอาตัวรอด แก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง มีความมั่นใจ กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าเข้าสังคม มีความเข้าใจต่อผู้อื่น มีหลักการและเหตุผล มีความรับผิดชอบ เข้าใจถึงกฎระเบียบและการปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ลดการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือพฤติกรรมที่ทำให้พ่อแม่อย่างเรากังวลได้ ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยความตั้งใจ อดทน และเคร่งครัดของคุณพ่อคุณแม่เช่นกัน

 

ที่ BrainFit เราเชื่อว่านอกจาก เทคนิคการเลี้ยงดูลูก อย่างถูกวิธีที่จะช่วยให้ลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพ ฉลาด และอารมณ์ดีแล้วนั้น ที่สถาบันของเราเห็นว่า หากสมองทั้ง 5 ด้านของลูกได้รับการฝึกจนแข็งแรง ไม่ว่าลูกจะทำกิจกรรมทั้งในหรือนอกห้องเรียน ลูกก็จะสามารถเรียนรู้ คิด วิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว มีสมาธิจดจ่อ ความจำเป็นเลิศ รวมถึงทักษะการเข้าสังคมอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่คุณภาพ  

 

BrainFit เอาใจช่วยคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านนะคะ ลองนำ กลยุทธ์ และ เทคนิคการเลี้ยงลูก นี้ไปปรับใช้ตามความเหมาะสม หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ลูกของเราเติบโตขึ้นเป็นเด็กฉลาด อารมณ์ดี เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และประสบความสำเร็จในชีวิตไปด้วยกันนะคะ

 

 

หากมีข้อสงสัย สามารถขอรับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้ฟรีที่เบอร์ โทร 02-656-9938 / 
02-656-9939 / 02-656-9915 / 091-774-3769

 

 LINE: @brainfit_th

 

BrainFit รับสมัครน้องๆ อายุตั้งแต่ 3-18 ปี

 

 

 

ขอขอบคุณแหล่งอ้างอิง

https://gooddayswithkids.com/2017/12/08/parenting-pyramid/

http://www.incredibleyears.com/

Contact Us

If you would like to have your child attend our course, or you would simply like more information, please contact us today.

BrainFit Studio Thailand 2nd floor, Ploenchit Center,
Sukhumvit Soi 2, Bangkok 10110BTS Ploenchit Station Exit 4

091-774-3769 02-656-9938 02-656-9939 Line ID: @brainfit_th