ลูกใจร้อน เป็นไฟ เราจะเป็นน้ำทั้งมหาสมุทร

 

ลูกใจร้อน เป็นไฟ เราจะเป็นน้ำทั้งมหาสมุทร

ลูกใจร้อน หงุดหงิดง่าย หรือมีอารมณ์ไม่คงที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะแท้จริงแล้วนี่เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็ก ๆ 

ผู้ปกครองอาจเคยได้ยินเรื่อง วัยทอง 2 ขวบ เป็นช่วงวัยที่สมองส่วนอารมณ์กำลังพัฒนา ทำให้ช่วงวัยนี้ลูกจะมีอารมณ์รุนแรง มากไปจนถึงการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม 

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเมื่อผ่านช่วง 2 ขวบไปแล้ว ลูกจะสามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ดีแล้ว เพราะสมองส่วนอารมณ์จะพัฒนาอย่างเต็มที่อีกครั้งในช่วงอายุ 10-12 ปี และจะเติบโตเต็มที่ในช่วงอายุ 15 ปี นั่นก็คือช่วงที่ลูกเข้าสู่วัยรุ่น เป็นอีกช่วงวัยที่อารมณ์จะพลุ่งพล่านเอามาก ๆ ซึ่งพ่อแม่เองต้องเตรียมรับมือและพยายามเข้าใจลูกให้ได้มากที่สุด

 

"ลูกใจร้อน"

 

⭐ ถ้าอย่างนั้นเราไปดูวิธีการรับมือเมื่อ ลูกใจร้อน หงุดหงิด หรืออดทนรอคอยไม่ได้ เราจัดการอย่างไรไปดูกันเลยค่ะ ⭐

 

ก่อนอื่นอยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจก่อนว่า ลูกของเรายังมีประสบการณ์ชีวิตน้อย ดังนั้นการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ เป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะเขาแสดงออกตามความรู้สึกจริง ๆ เราในฐานะผู้ปกครองก็มีหน้าที่สอนและบอกให้เขารู้จักอารมณ์หรือพฤติกรรมของตัวเองให้ได้มากที่สุด เรียนรู้วิธีการรับมือเมื่อเจอสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อที่ลูกจะสามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้อย่างเหมาะสม

เมื่อลูกเริ่มมีอารมณ์ร้อน เราจะเริ่มต้นจาก...

1. พ่อแม่จะต้องใจเย็นที่สุด 

เพราะการรับมือกับลูกเมื่อเขาใจร้อนจะไม่เกิดผล หากเราใจร้อนไปกับลูก รวมไปถึงการใช้คำพูดหรือการลงโทษที่รุนแรงเกินไป ดังนั้นต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า เราจะต้องใจเย็นและสงบนิ่งที่สุด เราจะเป็นเหมือนน้ำทั้งมหาสมุทรที่พร้อมจะดับไฟ แต่ถ้าหากตอนนั้นเรารู้สึกโมโหมากจริง ๆ และยังไม่สามารถทำใจให้เย็นลงได้ บอกให้ลูกรู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร แล้วค่อย ๆ สงบสติอารมณ์ให้เย็นลง 

 

“ตอนนี้พ่อ/แม่รู้สึกโมโหอยู่ ขอเวลาพักให้พ่อ/แม่ใจเย็นลงก่อน แล้วเดี๋ยวเรามาคุยกันนะ  ”

 

การทำแบบนี้นอกจากลูกจะได้เรียนรู้เรื่องอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่แล้ว ลูกยังได้เรียนรู้วิธีการจัดการและวิธีรับมือเมื่อรู้สึกโมโหจากตัวอย่างที่เห็นได้จริง ๆ เพราะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือการเรียนรู้จากตัวอย่างที่เห็นในชีวิตจริง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมแบบใดที่เราแสดงออกมา เขาจะสามารถเรียนรู้และเลียนแบบตามสิ่งเห็นได้อย่างรวดเร็ว

 

2. สอนลูกเรื่องอารมณ์ โดยการทำให้ลูกรู้ว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร 

เมื่อเราใจเย็นและสงบนิ่งมากขึ้นแล้ว เราสามารถเข้าไปพูดคุยกับลูก ถามความรู้สึกของเขาว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอะไรอยู่ หรือถามว่าหนูกำลังรู้สึก...ใช่ไหม? เพราะการสะท้อนอารมณ์ให้ลูกรู้ว่าเมื่อสักครู่ลูกได้แสดงอารมณ์อะไรออกมา จะทำให้ลูกได้ฝึกคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลและเข้าใจอารมณ์ตัวเองมากขึ้น 

 

“ตอนนี้ลูกรู้สึกยังไง บอกพ่อ/แม่ได้ไหมคะ”

“ตอนนี้ลูกรู้สึกโมโหใช่ไหมคะ”

“โอเคพ่อ/แม่เข้าใจแล้ว ที่หนูโยนของเล่นกระจัดกระจาย เพราะหนูกำลังโกรธมากใช่ไหมคะ”

 

3. เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่า 

เมื่อลูกรู้แล้วว่าเขารู้สึกอย่างไร วิธีที่เราจะทำให้ลูกใจเย็นลงมาได้อีกนั่นก็คือ การทำให้ลูกรู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกัน เราพร้อมที่จะเข้าใจและจะไม่ต่อว่าลูก โดยให้ลูกได้อธิบายเหตุผลของลูกอย่างเต็มที่ เราจะไม่ขัด ไม่ตำหนิ และไม่ต่อว่า แต่จะฟังเหตุผลว่าเพราะอะไรเขาถึงแสดงออกเช่นนั้น

หน้าที่ของเราคือรับฟังอย่างตั้งใจ และพยายามเข้าใจในมุมมองของลูกให้ได้มากที่สุด หลังจากนั้นเราค่อยบอกให้ลูกรู้ว่าสิ่งที่ลูกทำลงไปเมื่อสักครู่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมเพราะอะไร

 

“หนูเล่าให้พ่อ/แม่ฟังได้ไหม ว่าหนูโมโหเพราะอะไร”

“ขอบคุณนะลูกที่เล่าให้พ่อ/แม่ฟัง ตอนนี้พ่อ/แม่เข้าใจแล้วว่าหนูรู้สึกโมโหเพราะอะไร”

“อื้มม พ่อ/แม่เข้าใจแล้ว ถ้าเป็นพ่อ/แม่เองก็คงรู้สึกเหมือนลูก”

 

ถึงตอนนี้ลูกจะเริ่มรู้สึกอุ่นใจและปลอดภัย เพราะเขามีพ่อแม่ที่เข้าใจในมุมมองของเขาแม้จะเป็นเรื่องที่เขาทำผิดก็ตาม แต่พ่อแม่ก็ไม่ได้ตำหนิหรือต่อว่าไปก่อนจนทำให้ลูกรู้สึกแย่ ในทางกลับกันลูกจะรู้สึกขอบคุณและดีใจที่พ่อแม่รับฟังเขา เมื่อถึงคราวที่เราอยากจะคุยกับลูก เขาก็จะเปิดใจรับฟังพ่อแม่มากขึ้นนั่นเอง

 

เมื่อเรารับฟังลูกจนจบและแสดงความเข้าใจในเหตุผลของลูกแล้ว เราก็จะสอนลูกเรื่องพฤติกรรม ว่าแบบไหนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม

“ลูกรู้สึกโมโหได้นะ เพราะพ่อ/แม่เองก็เคยโมโหเหมือนกัน แต่ถ้าโมโหแล้วโยนของแบบนี้ไม่โอเคนะ”

“ถ้าต่อไปลูกรู้สึกโกรธ โมโห ใจร้อน หนูลองทำแบบนี้นะ นับเลข 1 - 20 หรือหายใจเข้าลึก ๆ แล้วหายใจออกทางปากช้า ๆ
ไหนลองทำไปด้วยกันกับพ่อ/แม่นะ”

 

4. ชื่นชมลูกเมื่อเขาพยายามปรับและจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น

การชื่นชม แสดงความรัก หรือพูดขอบคุณ เมื่อลูกทำสิ่งดี ๆ เป็นสิ่งที่สำคัญและทรงพลังมาก ลูกจะเรียนรู้และจดจำได้ดีว่านี่คือสิ่งที่พ่อแม่อยากให้เขาทำบ่อย ๆ เพราะทุกครั้งที่ลูกแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมน่ารัก เขาจะได้รับคำชื่นชมที่เต็มไปด้วยความรักจากพ่อแม่เสมอ เป็นการปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีโดยการให้คำชมและความรักเป็นรางวัลตอบแทนนั่นเอง

 

“หนูพยายามควบคุมอารมณ์ได้ดีมากเลยนะ ตอนนี้รู้สึกดีขึ้นแล้วใช่ไหม” 

“พ่อแม่ดีใจมากเลยนะ ที่หนูใจเย็นลงได้ด้วยตัวเอง พ่อกับแม่รักลูกนะ”

 

5. ครอบครัวคือตัวอย่างที่ดีที่สุด

เหมือนคำกล่าวที่ว่า "ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น" ดังนั้นถ้าเราอยากให้ลูกเป็นแบบไหน นอกจากจะคอยสอนคอยบอกเขาแล้ว เราควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้เขาเห็นในทุก ๆ วันด้วยเช่นกัน เพราะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือการเรียนรู้จากตัวอย่างที่เห็นในชีวิตจริง

ดังนั้นหากเราเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น ลูกก็จะเรียนรู้และทำตามจนกลายเป็นพฤติกรรมที่ดี เมื่อลูกจัดการณ์อารมณ์ตัวเองได้ดี เขาก็จะมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่แข็งแรงในการรับมือกับคนอื่น ๆ ในสังคมได้

 

 

⭐ อีกหนึ่งตัวอย่างสถานการณ์ที่พ่อแม่ต้องเจอบ่อย ๆ คือ เมื่อลูกงอแงอยากได้ของเล่น 

❌ข้อควรระวังที่ห้ามทำเด็ดขาดคือ การให้ในสิ่งที่ลูกต้องการ 

เพราะถ้าเราคิดว่าให้ลูกไปปัญหาจะได้จบ แถมลูกก็หยุดร้องเสียงดังด้วย เป็นความเข้าใจที่ผิดนะคะ เพราะการทำเช่นนี้ ลูกจะเรียนรู้ว่าการลงไปดิ้นกับพื้นหรืองอแงร้องไห้เสียงดัง เขาจะได้ของเล่นเป็นรางวัลเสมอ และครั้งต่อไปก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำ ๆ หรืออาจจะรุนแรงมากขึ้นก็เป็นไปได้

 

ดังนั้นพ่อแม่ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า หากลูกใจร้อนเป็นไฟ เราจะเป็นน้ำทั้งมหาสมุทร เมื่อลูกงอแงเสียงดังและเราจะต้องทำใจให้สงบ แล้วค่อยเข้าไปคุยกับลูก แสดงความเข้าใจว่าทำไมลูกถึงรู้สึกแบบนี้ และเพราะอะไรพ่อแม่ถึงให้สิ่งที่เขาต้องการไม่ได้ เช่น 

 

“หนูเห็นของเล่นเยอะแยะ หนูเลยอยากได้ใช่ไหม”

“ตอนนี้หนูกำลังเสียใจเพราะพ่อแม่ไม่ซื้อของเล่นให้ใช่ไหม” 

“วันนี้พ่อกับแม่มาห้างสรรพสินค้าเพราะมาซื้อของใช้ในบ้าน ส่วนของเล่นที่ลูกอยากได้ เราทำข้อตกลงกันไว้ว่าจะซื้อให้ตอนวันเกิดของหนู” 

“ถ้าหนูอยากได้จริง ๆ ลูกดูไว้ก่อนได้ว่าหนูอยากได้อะไร แล้วเราจะกลับมาซื้อในวันเกิดของหนูกันนะ” 

 

บอกให้ลูกเข้าใจว่า การแสดงพฤติกรรมแบบนี้ไม่เหมาะสมเพราะอะไรด้วยน้ำเสียงที่นิ่งสงบ พยายามให้ลูกใจเย็นลงโดยเราอาจจะเข้าไปกอด หรือสอนให้ลูกหายใจลึก ๆ นับเลข 1-20 จนกว่าลูกจะสงบลง 

หากลูกสามารถใจเย็นลงได้และยอมที่จะไม่เอาของเล่นตอนนี้ พ่อแม่จะต้องชื่นชม แสดงความรัก หรืออาจจะให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้ลูกเห็นว่าพฤติกรรมนี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ชอบและอยากให้ลูกทำบ่อย ๆ

 

“พ่อ/แม่ดีใจนะที่หนูใจเย็นลงได้ด้วยตัวเอง แถมยังเข้าใจแล้วว่าเราจะซื้อของเล่นได้ตอนวันเกิดของหนู” 

“หนูเข้าใจและใจเย็นลงแล้ว พ่อ/แม่ภูมิใจในตัวหนูมาก ๆ นะ งั้นเราไปดูกันดีไหมว่าที่นี่มีขนมที่ลูกชอบหรือเปล่า” 

 

"ลูกใจร้อน"

 

เป็นอย่างไรบ้างคะ หวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะได้ข้อคิดรวมถึงวิธีรับมือในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้กับลูกได้ในชีวิตจริง อย่างนั้นเรามาทบทวนข้อสรุปกันอีกครั้ง กับ 5 วิธีรับมือเมื่อลูกใจร้อนหรือหงุดหงิดง่าย

 

1. พ่อแม่ต้องใจเย็นก่อนเข้าไปคุยกับลูก เราจะไม่โมโหหรือใช้คำพูดรุนแรงตำหนิลูกกลับทันที

2. บอกให้ลูกรู้ว่าตอนนี้เขารู้สึกอะไรอยู่ เช่น โกรธ โมโห เสียใจ เศร้า

3. เปิดโอกาสให้ลูกเล่าหรืออธิบายเหตุผล และพ่อแม่รับฟังอย่างตั้งใจ

4. ขอบคุณและชื่นชมลูกเมื่อเขาแสดงพฤติกรรมที่ดี

5. ครอบครัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็นเสมอ และทุกคนในครอบครัวปฏิบัติไปในทางเดียวกัน

 

✨ คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองลองนำไปปรับใช้ดูนะคะ หาก ลูกใจร้อน เป็นไฟ เราจะเป็นน้ำทั้งมหาสมุทร เริ่มต้นจากการปรับอารมณ์ของเราเองให้เย็นก่อน และมองว่าลูกเป็นแค่เด็กคนหนึ่งที่ต้องเรียนรู้วิธีการเอาตัวรอดในโลกใบใหญ่แห่งนี้ให้ได้ 

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของครอบครัวที่จะต้องคอยสอนและขัดเกลาให้เขาเป็นเด็กที่แข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ หากทุกคนในครอบครัวพร้อมที่จะสอนและปฏิบัติไปในทางเดียวกัน ลูกจะเป็นเด็กที่น่ารัก จิตใจดี และฉลาดทางอารมณ์ได้อย่างแน่นอนค่ะ

 

 

 

เพิ่มเพื่อน

LINE: @brainfit_th 

จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ และ อาทิตย์  

02-656-9938 / 02-656-9939 02-656-9915

วันพฤหัสบดี-วันศุกร์  091-774-3769

Contact Us

If you would like to have your child attend our course, or you would simply like more information, please contact us today.

BrainFit Studio Thailand 2nd floor, Ploenchit Center,
Sukhumvit Soi 2, Bangkok 10110BTS Ploenchit Station Exit 4